“กิตติ ชีวะเกตุ” ชกข้ามรุ่น UAC สู่..“ซูเปอร์เฮวี่เวท”

การเงิน – การลงทุน : ถนนนักลงทุน
วันที่ 31 ธันวาคม 2555 01:00
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ชำแหละวิธีคิด “แอ๊ด” กิตติ ชีวะเกตุ หุ้นใหญ่ “ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์” ผลันตัวเองไปสู่ “ธุรกิจต้นน้ำ”
บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ (UAC) ของ “แอ๊ด” กิตติ ชีวะเกตุ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 57.23% (ณ วันที่ 8 พ.ย.2555) ถูกนักลงทุนพร้อมใจกันขนานนามว่า เป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดเล็ก (ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ) แต่ชอบทำเรื่องใหญ่ๆ เขาทำนอง “เล็กๆไม่”

นักลงทุนบางรายยังเผลอใจหลงรักหุ้น UAC ตามท่านประธานกรรมการ “รศ.ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” “เซียนหุ้นพันล้านแนว VI” ซึ่งเป็น “เพื่อนร่วมรุ่น” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วศ.2515) กับ “กิตติ ชีวะเกตุ”และ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนหุ้นเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย

ล่าสุด “แอ๊ด” ตัดสินใจขยับฐานะตัวเองจากคนทำ “ธุรกิจปลายน้ำ” ผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมี และอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มาสู่ “ธุรกิจต้นน้ำ” ด้วยการผันตัวเองมาเป็นเจ้าของ “โครงการพลังงานทดแทน” มูลค่าหลายพันล้านบาทอย่างเต็มตัว หลังปลายปี 2550 เคย “ชิมลาง” พัฒนาโครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มร่วมกับบมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) มาแล้ว

ก่อนจะมาเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ BCP เพื่อจัดตั้ง “บางจากไบโอฟูเอล” (BBF) ขึ้นที่จังหวัดอยุธยา เพื่อผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล โดย BCP ถือหุ้น 70% และ UAC ถือหุ้น 30% ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลสูงสุดประมาณ 3 แสนลิตรต่อวัน

จากนั้นในปี 2553 บริษัทได้รับอนุมัติโครงการลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง (Compressed Bio-methane Gas: CBG) จากมูลสุกร ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับรถยนต์

การ “มูฟ” บทบาทตัวเองครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เรียกว่า “สูงกว่า” สินทรัพย์ของตัวเองที่มีอยู่ 785 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ก.ย.2555) ทำให้บริษัทตัดสินใจประกาศ “เพิ่มทุน” จำนวนไม่เกิน 64 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมไม่เกิน 39,700,000 หุ้น ในอัตรา10 หุ้นเดิมต่อ1หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 3 บาท และขายให้ประชาชนทั่วไปไม่เกิน 24,300,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท (UAC-W1) ไม่เกิน 92,200,000 หน่วย ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ราคาใช้สิทธิ 7.50 บาท ในอัตรา5 หุ้นใหม่ต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ1 หน่วย นอกจากนั้นบริษัทยังประกาศลดมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จากหุ้นละ 1 บาท เหลือ 0.50 บาท กระบวนการเพิ่มทุนในครั้งนี้เกิดขึ้น หลังบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ได้เพียง 2 ปีกว่า (ซื้อขายวันแรก 11 ต.ค. 2553) สัญญาณครั้งนี้กำลังบ่งบอกว่า UAC ต้องการเลื่อนชั้นไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

“แอ๊ด” เรียนจบโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รุ่น 11 โรงเรียนเดียวกับ “ณอคุณ สิทธิพงศ์” ปลัดกระทรวงพลังงาน และ “แอ๊ด” ยังเป็นรุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ณอคุณ” จบรุ่น วศ.2518 “คอนเน็กชั่น” ที่ลึกซึ้งแนบแน่นอาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้กระทรวงพลังงานอนุญาตให้บริษัทดำเนินโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดจากฟาร์มสุกร (CBG) รวดเดียว 10 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง แบ่งเป็นจังหวัดละ 3-4 โครงการ กำลังการผลิต 2,000 ตันต่อปี โครงดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนจากบริษัท 90 ล้านบาทต่อแห่ง และจากกระทรวงพลังงาน 10 ล้านบาทต่อแห่ง

“แอ๊ด” กิตติ ชีวะเกตุ กรรมการผู้จัดการ “ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์” แจกแจงเหตุผลที่ UAC ต้องทำธุรกิจพลังงานทดแทนว่า หลายคนสงสัยทำไมเราจึงกล้าใช้เงินลงทุนมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของตัวเอง ผมคิดว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่สุดแล้ว เมื่อมีโอกาสเข้ามาจะรอช้าทำไม!!!

ลงทุนตอนนี้ เปรียบเหมือนการ “ตีเหล็ก” ต้องตีตอนร้อนๆ ไม่เช่นนั้นการลงทุนก็ไม่เกิดผลประโยชน์สูงสุด หากลงทุนช่วงจังหวะไม่ดี อาจมีคู่แข่งเยอะ บางครั้งคู่แข่งก็จะลงทุนตัดหน้าเรา แต่ไม่ว่าจะลงทุนโครงการอะไร บริษัทต้องได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 20% จึงจะถือว่า “คุ้มค่า”

การหันไปทำธุรกิจพลังงานเต็มสูบ นอกจากเป็นการต่อยอดธุรกิจแล้ว มองไปยาวๆจะเห็นว่าอนาคตธุรกิจพลังงานทดแทนยังมีโอกาสเติบโต เพราะยังมีวัตถุดิบที่จะนำมาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพลังงานได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสนับสนุนในการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาพลังงานทดแทนต่อเนื่อง หลังแหล่งพลังงานสำรองในประเทศเริ่มลดลง UAC ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพลังงานทดแทน

เขา ย้ำว่า การรุกธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้นจะทำให้ตัวเลขรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) เปลี่ยนแปลงไปแบบ “ก้าวกระโดด” ตัวเลข 2,000-3,000 ล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% เราทำได้แน่นอน เพราะธุรกิจจัดจำหน่ายสารเคมียังมีอัตราเติบโตต่อเนื่องราวๆ 20-25%

อนาคตสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมมีรายได้จากธุรกิจจากการขายประมาณ 50% และธุรกิจพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน 50% เปลี่ยนเป็นธุรกิจจากการขายจะลดสัดส่วนลงเหลือประมาณ 40% และธุรกิจพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ซึ่งอัตรากำไรสุทธิของธุรกิจพลังงานทดแทนอยู่ระดับที่น่าพอใจประมาณ 10%

“เรายัง​มองหาลู่ทางการ​ลงทุน​ในพม่า ล่าสุด​ได้​เดินทาง​ไปสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์ม​ทาง​ใต้ของพม่า หากจะผลศึกษาโอเคเราจะเข้าไปทำธุรกิจในนามของบริษัทร่วมทุน “บางจาก​ไบ​โอฟลู​เอล” แต่การลงทุนในพม่ายังต้องรอ​ความชัด​เจนของร่างกฎหมายที่จะ​เปิดช่อง​ให้ต่างชาติ​เข้า​ไปถือหุ้น​คาดว่ารัฐบาลพม่าจะ​เร่งผลักดัน​ให้สามารถบังคับ​ใช้​ได้​ก่อนสิ้นปี”

“แม่ทัพใหญ่” ยังแจกแจงรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่า นอกจากโครงการที่กระทรวงพลังงานอนุมัติ 10 แห่งแล้ว เรามียังโครงการที่กำลังลงมือทำอีกมากมาย อาทิ โครงการผลิตก๊าซ Compressed natural gas (CNG) ​แห่งแรกในจังหวัดสุ​โขทัย เราจะเริ่มเดินเครื่องผลิตเพื่อขายให้ปตท.ในปลายไตรมาส 1/56 ซึ่งจะได้ผลผลิตเป็นก๊าซ NGV ราว 1 หมื่นตันต่อปี, LPG ประมาณ 8,000 ตันต่อปี และ NGL ประมาณ 2,000 ตันต่อปี คาดว่าในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2556 จะทำรายได้กว่า 200 ล้านบาท ปีถัดไปก็จะสร้างเงินเต็มกระเป๋า 300 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีสัมปทานในแหล่งอื่นในจังหวัดสุโขทัยอีก ตอนนี้อยู่ระหว่างสำรวจปริมาณสำรองของแหล่งที่ห่างจากแหล่งเดิม 15 กิโลเมตร คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลสำรวจภายในปี 2556 จากนั้นบริษัท​ก็จะพิจารณา​ความ​เป็น​ไป​ได้​ใน​การตั้ง​โรงผลิตก๊าซ​แห่งที่ 2 ขณะเดียวกัน
บริษทัยังทำโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง (Compress Bio Gas : CBG) จากมูลสุกรและพืชมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อขายให้กับปตท.

บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตในโครงการผลิตไบโอดีเซล จังหวัดอยุธยา ภายใต้บริษัทร่วมทุน “บางจากไบโอฟลูเอล” มูลค่าลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาสแรกปีหน้า บริษัทอาจใช้เงินในการร่วมลงทุนครั้งนี้ประมาณ 250 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการร่วมทุนกับบมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) และพันธมิตรท้องถิ่น 1 ราย คาดไตรมาสแรกของปีหน้าจะได้ข้อสรุป

ถามถึงรายได้ในปี 2555 เขา ยอมรับว่า อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ระดับ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้าปิโตรเคมีจากต่างประเทศมีความล่าช้า หลังความต้องการในต่างประเทศมีสูงทำให้ผลิตไม่ทัน คาดว่าจะเลื่อนออกไปต้นปีหน้า

แต่เรามั่นใจว่ากำไรทั้งปี 2555จะมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาท เพราะ 9 เดือนที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิแล้ว 102-103 ล้านบาท นอกจากนี้ในไตรมาส 4/55 กำไรจะออกมาใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2555 ที่มีกำไรสุทธิ 30 ล้านบาท

“กิตติ” ทิ้งท้ายว่า ปีหน้า “ปักธง” อยากมีรายได้กว่า 1,100 ล้านบาท ผมมักจะ “ย้ำ เตือน” พนักงานเสมอว่าเราต้อง “เติบโต” ทุกภาคส่วนต้องโตไปด้วยกัน หากบริษัทมีกำไรสะสมมากพออาจเข้าไปลงทุนในจุดอื่นเพิ่มเติม และต้องทำให้เกิดดอกผลกลับมาให้เร็วที่สุด ผมอยากบอกนักลงทุนว่าในระยะอันใกล้จะไม่เห็นเราเพิ่มทุนอีก”

รักจริงหวังแต่ง กับ“หุ้นพลังงาน” เท่านั้น

หลังคร่ำหวอดอยู่ในวงการพลังงานมายาวนาน “แอ๊ด” กิตติ ชีวะเกตุ ก็หันมาลงทุนในตลาดหุ้น หลังความคิด “สะเด็ดน้ำ” ที่ประโยค “การลงทุนในตลาดหุ้นก็โอเคนะ อย่างหุ้น UAC ผมก็มีเยอะ”

“แอ๊ด” เล่าว่า เริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้น ด้วยการซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะหุ้นครอบครัวปตท.เคยซื้อหุ้น PTT ตั้งแต่ราคาไอพีโอ 35 บาทต่อหุ้น แรกๆก็ยังมีหุ้นไม่มาก พอร์ตลงทุนยังไม่ใหญ่เท่าไร แต่ตอนนี้พอร์ตขยับขึ้นเป็น 500 ล้านบาทแล้ว ทุกปีจะได้รับเงินปันผลปีละ 1 ล้านบาท ถือเป็นการออมเงินที่ดีอย่างหนึ่ง
ถามว่าทำไมถึงชอบหุ้นพลังงาน เขา บอกว่า วิธีคัดเลือกหุ้นหลักๆของผม คือ จะซื้อหุ้นตัวที่รู้จักลึกซึ้งเท่านั้น ที่สำคัญต้องรู้ว่าอนาคตของหุ้นตัวนั้นจะเติบโตไปในทิศทางไหน ฉะนั้นในเมื่อผมเกิดมาจากธุรกิจพลังงานและรู้จักมันเป็นอย่างดี ก็ควรต้องซื้อเก็บไว้

“ผมจะไม่ยอมเสี่ยงกับหุ้นเก็งกำไรอย่างเด็ดขาด” ผมนิยมถือลงทุนระยาวมากกว่าทุกวันนี้ยังถือหุ้น พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) อยู่เลย ซื้อมาตั้งแต่ยังเป็นบมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือ ATC ต้นทุนราคา 2 บาทต่อหุ้น ไม่เคยขายสักหุ้นมีแต่ซื้อเพิ่ม

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ส่วนใหญ่จะดูราคาสูงต่ำของหุ้น ถ้าราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็จะเข้าไปลงทุน แล้วก็ดูเส้นกราฟ อ่านบาทวิเคราะห์ควบคู่ไปด้วย ถามว่าหุ้น PTT ยังเข้าไปลงทุนได้อีกหรือไม่ หากราคาหุ้นปรับลดลงมาต่ำกว่า 300 ล้านบาท ก็เข้าไปลงทุนได้

ถามว่าวันนี้หุ้นกลุ่มพลังงานตัวไหนน่าสนใจ หุ้นพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) หุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และหุ้น ไทยออยล์ (TOP) ก็น่าสนใจนะ แต่ธุรกิจของเขาหนักไปด้านกลุ่มน้ำมันมากไปหน่อย ทำให้มีความเสี่ยง
ส่วน หุ้น ไออาร์พีซี (IRPC) ถือเป็นบริษัทที่มีอนาคต ถ้าโครงการต่างๆสำเร็จ เขาจะกลายเป็นหุ้นที่ดีตัวหนึ่ง ที่ผ่านมาราคาเคยลงไป 2 บาทต่อหุ้น ตอนที่กลุ่มเสื้อแดงบุกไปพัทยา

“ผมยังลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ อาทิเช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์พวกคอนโดมิเนียม รวมถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สินทรัพย์พวกนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน”