บทความ พื้นฐานเปลี่ยนจริงหรือ โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์

แม้หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทย แต่นักลงทุนยังมีความมั่นใจและพร้อมเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนี SET ปิด ณ วันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ 1,598 จุดหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 15% ส่วนดัชนี mai ปรับเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 22% นับตั้งแต่ต้นปี ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายหนาแน่นและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังพร้อมเข้าลงทุนหุ้น ณ ระดับราคาที่ PE สูงกว่า 40 เท่าอีกด้วย คำถามที่เกิดขึ้นคือ “ฤาพื้นฐานของประเทศหรือตลาดหุ้นได้เปลี่ยนไป ?” ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผมนึกถึงข้อมูลที่ได้รับจากการเข้าชมนิทรรศการ “THAILAND 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก” ที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์อย่างมากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศถือว่าเป็นยุทธ์ศาสตร์ที่สำคัญ โดยตั้งงบประมาณการลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาทใน 7 ปีข้างหน้า เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางกว่า 80% ซึ่งได้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 10 สายเป็นต้น การลงทุนครั้งมหาศาลนี้ถือว่าเป็นยุทธ์ศาสตร์ระยะยาวที่มีโครงการรองรับอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับการแข่งขันของประเทศโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและการขนส่ง ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น กล่าวคือ “หากทำสำเร็จตามแผน” ยุทธ์ศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นฐานและศักยภาพของประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้เช่นกัน

การลงทุนครั้งนี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ กลุ่มแรกคือ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่ชนะการประมูล กลุ่มผู้รับเหมาช่วงต่อ บริษัทแต่ละรายน่าจะมีงานล้นมือในอีกหลายปีข้างหน้าและต้องจะมีผลประกอบการที่ดี หากราคาต่ำสุดที่ชนะการประมูลเป็นราคาที่ดีมีกำไรและสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างทั้งราคาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร พลังงาน แรงงาน ตลอดจนเงินกู้และดอกเบี้ยจ่าย ส่งมอบงานได้ตามตรงกำหนดเวลาโดยไม่ถูกปรับในทุกกรณี กลุ่มสองคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร กลุ่มเหล็ก กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัทที่จะมีผลประกอบการที่โดดเด่นต้องมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถบริหารจัดการต้นทุน ความผันผวนราคาวัตถุดิบและค่าเงิน และรักษาระดับการทำกำไรได้ดีแม้อาจเผชิญสภาวะที่มีการแข่งขันสูงขึ้นก็ตาม กลุ่มสามคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (ไอซีที) กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางอ้อม ธนาคารพาณิชย์และบริษัทไอซีทีที่จะได้ประโยชน์สูงสุดต้องสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการเพื่อไม่ให้ถูกต่อรองจนได้รับผลกระทบต่อระดับการทำกำไร และต้องไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จะได้รับผลดีจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง และมีโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดตามความเจริญที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการที่ดีขึ้นจะเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพและได้ประโยชน์ของ Economy of scale ที่สูงขึ้นนั่นเอง กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ การเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งด้านคุณภาพและราคาโดยยังมีระดับการทำกำไรที่ดี ที่กล่าวมาเป็นเพียงกรณีตัวอย่าง “เชิงบวก” ที่คาดว่าประเทศไทยและกลุ่มบริษัทจดทะเบียนจะได้รับจากการลงทุนครั้งสำคัญนี้ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลจากหลายภาคส่วนทั้งด้านการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ ความโปร่งใสและปัญหาคอร์รัปชั่น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากสถานการณ์เปลี่ยนหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น โครงการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นเพียงบางส่วนหรือไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ กล่าวโดยสรุปคือ ยังไม่สามารถตอบได้ว่า พื้นฐานของประเทศหรือตลาดหุ้นเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยสำคัญคือ “ความไม่แน่นอน” อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ระดับราคาหุ้นที่นักลงทุนทั่วไปซื้อขายในปัจจุบันนั้น ดูเหมือนว่า เป็นการประเมินเชิงบวกทั้งสิ้นและมองข้าม “ตัวแปรความไม่แน่นอน” อย่างสิ้นเชิง

ในภาวะตลาดกระทิงและหุ้นส่วนหนึ่งมีการซื้อขายในระดับราคาค่อนข้างสูงเช่นปัจจุบัน Value Investor ทุกคนต้องวิเคราะห์ถึงทุก “ปัจจัยเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นและต้องหลีกเลี่ยงหากมีโอกาสที่จะกระทบเชิงลบต่อกิจการอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตนตกอยู่ในภาวะ High Risk Low Return นั่นเอง