ผมลงทุนในตลาดหุ้นตามแนวทางเน้นคุณค่า (VI) เจ็ดปี ก่อนจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้ “โกะ” เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา สิ่งที่พบคือโกะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับการพัฒนาวิธีการลงทุน จากปรัชญาของโกะที่ซ่อนอยู่ ทั้งรูปแบบ กลยุทธ์ในการต่อสู้บนกระดาน รวมถึงการมองภาพในหลายมิติ การมีจินตนาการ และสำคัญที่สุดคือ “จิต” ที่แบ่งแยกนักลงทุนธรรมดากับเซียนหุ้นออกจากกัน

แนวคิดเบื้องต้นของโกะอย่างบัญญัติ 10 ประการ ก็เป็นหลักคิดเบื้องต้นที่ช่วยสร้างพื้นฐานการลงทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมจะลองยกตัวอย่างมาบางส่วน ดังนี้

1.เล่นมุม ข้าง กลาง ตามลำดับ : ควรลงทุนในสิ่งที่ง่าย ๆ และให้ผลดีก่อนจะเข้าไปลงทุนในสิ่งที่ยาก นักลงทุนส่วนใหญ่มักชอบลงทุนในกิจการที่เข้าใจยาก กิจการที่มีสินค้าชื่อ

แปลก ๆ เป็นภาษาวิทยาศาสตร์ ซึ่งติดตามความก้าวหน้ากิจการได้ยากมาก ซึ่งอันที่จริงแล้วการเริ่มต้นการลงทุนด้วยสิ่งง่าย ๆ ที่เราเข้าใจ สินค้าและบริการอยู่รอบ ๆ ตัวเรา อย่างเช่นการเล่นมุมก่อนในเกมโกะ ย่อมได้ประสิทธิภาพสูงกว่ามาก

2.เล่นให้ได้ผลสองเท่าทุกครั้งที่มีโอกาส : การลงทุนทุกครั้งควรหวังทั้งกำไรที่มากและความเสี่ยงต่ำ ปรัชญา High Risk High Return ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ถ้านักลงทุนเข้าใจและมองเห็นโอกาส

ดังนั้นหมากหุ้นทุกตัวที่เราลงทุน ควรจะหวังผลสองเท่า ไม่ว่าจะเป็น Upside ของหุ้นที่สูง Downside ต่ำ มีปันผลสม่ำเสมอในขณะที่รอ ถ้าเราสามารถเลือกหุ้นได้แบบนี้ทุก ๆ ครั้ง ก็เหมือนการเดินหมากที่ชาญฉลาดซึ่งมีโอกาสแพ้น้อย

3.ยืนให้มั่นคงด้วยสองเท้าที่แยกจากกัน : คือการมีพอร์ตหุ้นที่สมดุล หุ้นที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว สู้หุ้นที่อยู่กันเป็นกลุ่มอย่างแข็งแรงในพอร์ตโฟลิโอเราไม่ได้ ดังนั้นการวางโครงสร้างพอร์ตโฟลิโอจึงเป็นสิ่งสำคัญ การลอกการบ้านเป็นหุ้นรายตัวจากผู้อื่น จึงเหมือนกับแค่ถามว่าหมากนี้จะเดินตรงไหน โดยขาดเหตุผลและยุทธศาสตร์ของการวางหมากเม็ดต่อไป

4.มีทางออกสองทางเสมอ : การลงทุนควรมีทางหนีทีไล่หรือแผน 2 เสมอ

นักลงทุนมักมองโลกในแง่ดีอยู่ด้านเดียว มองว่าเราจะทำกำไรกับหุ้นตัวนั้นได้มาก ๆ โดยไม่ประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในอนาคตที่มีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามากระทบ สิ่งนี้ผมได้เรียนรู้อย่างมากในช่วงวิกฤต Subprime ซึ่งหุ้นบางตัวเข้าแล้วแทบไม่มีทางออก หรือไม่มีสภาพคล่องให้ขายได้เลย

ยามวิกฤต หุ้นแบบนี้หลัง ๆ ผมไม่ค่อยชอบนัก ผมจะจำปรัชญาข้อนี้เป็นพิเศษ เพราะวิกฤตหุ้นมีมาเสมอ ๆ และเป็นจุดเป็นจุดตายสำคัญของการลงทุน

5.ล้อมเขา อย่าให้เขาล้อมเรา, ตัดเขา อย่าให้เขาตัดเรา : อยู่เหนืออารมณ์ตลาด มิใช่ตามตลาดและคิดล่วงหน้ากว่าผู้อื่น

หนึ่งก้าวเสมอ ในตลาดหุ้น เบนจามิน เกรแฮม ให้ฉายาตลาดหุ้นว่าเป็น Mr. Market หรือนายตลาดซึ่งมีอารมณ์แปรปรวน

บางวันก็ตื่นเต้นมีความสุขยื่นเสนอหุ้นราคาแพง ๆ ให้เรา บางวันก็หดหู่เหมือนไร้อนาคต และยื่นเสนอหุ้นตัวเดียวกันในราคาถูกแสนถูก นักลงทุนควรมองข้ามไปหนึ่งขั้น ซื้อก่อน ขายก่อนที่ทุกคนจะมองเห็น

หมากล้อมยังเป็นการมองภาพใหญ่และภาพย่อยประกอบกัน ซึ่งเป็นหัวใจในการลงทุน ในเกมหมากล้อม การยอมเสียบางพื้นที่เพื่อรักษาหรือสร้างพื้นที่อื่น ก็เหมือนกับการขายหุ้นแย่ เก็บหุ้นดีไว้ เหมือนดังที่ ปีเตอร์ ลินซ์ กูรูนักลงทุนบอกว่า จงอย่าเด็ดดอกไม้และรดน้ำวัชพืช

อีกสิ่งหนึ่งที่หมากล้อมสอนนักลงทุนได้เป็นอย่างดีคือ หมากจะเป็นหมากที่ดีได้ ต้องเดินตำแหน่งที่ดีและใน “เวลา” ที่เหมาะสมด้วย เปรียบเหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้น หุ้นบางตัวมีเวลาทองไม่เหมือนกัน

จะพบบ่อย ๆ ว่าในหุ้นตัวเดียวกัน

คนบางคนทำกำไรจากหุ้นตัวนั้นเป็นกอบเป็นกำ บางคนขาดทุนหนัก ธุรกิจบางอย่างถ้าเราเข้าไปลงทุนเร็วเกินไป ก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพต่ำ หรือถ้าเราลงทุนช้าเกินไป บางครั้งก็สายไปเสียแล้ว

ดังนั้นถ้าเราเข้าใจหลักเกณฑ์ว่าตำแหน่งยุทธศาสตร์ในเวลาที่เหมาะสมแล้ว จะช่วยให้การลงทุนดีขึ้นมาก

ความมีเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหมากล้อมที่ผมชอบมาก เมื่อมาเปรียบเทียบกับการลงทุนแนว VI คือ การสร้างความได้เปรียบในระยะยาว ผ่านตัวหมากทีละเม็ด ๆ ความได้เปรียบเล็ก ๆ ของหมากแต่ละเม็ด ส่งผลยิ่งใหญ่ต่อเกมในอนาคต ซึ่งใกล้เคียงภาพการวิเคราะห์การลงทุน

โดยเฉพาะเรื่อง DCA ของกิจการที่เราจะเข้าลงทุนCompetitive Advantage คือ ความสามารถในการแข่งขันที่อยู่กับตัวธุรกิจ อาจจะเป็นตราสินค้าที่มีคนจงรักภักดี ต้นทุนการผลิต เทคโนโลยี สิทธิบัตร หรือทำเลทางธุรกิจ แต่สิ่งนี้ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนระยะยาว

เพราะบัฟเฟตต์บอกว่า ความสามารถในการแข่งขันที่ดีจะต้อง “ยั่งยืน” ด้วย หรือที่แกเรียกมันว่า Durable Competitive Advantage (DCA)