Posts from the ‘หุ้นรายตัว’ Category

ไมเนอร์ โฮเทลส์

ปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่ “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ขยับรุกสร้างเครือข่ายระดับโลกได้มากที่สุด
 ภายใต้แผน 5 ปีที่เริ่มตั้งแต่ปี 2560 ยังวางเป้าหมายในฐานะเชนโรงแรมแถวหน้า ที่ใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยง เพื่อให้มีลูกค้าครอบคลุมทุกตลาด
ดิลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ โฮเทลส์ เปิดเผยว่าช่วง 5 ปีนี้ มีเป้าหมายขยายธุรกิจจาก 155 โรงแรม เป็น 250 โรงแรม โดยเพิ่มจุดหมายจาก 23 ประเทศเป็น 30 ประเทศทั่วโลก หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มขยับเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคใหม่ เช่น ยุโรปและอเมริกาใต้ จากการปิดดีลการซื้อกิจการโรงแรมทิโวลี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท สำเร็จ​​​
สำหรับฐานตลาดหลักอย่าง“ไทย”ที่ไมเนอร์ย้ำว่ายังคงเป็นจุดหมายลงทุนหลักแห่งหนึ่ง ปีที่ผ่านมาอัตราเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในเครือทั้งที่เป็นเจ้าของและรับบริหารเองเพิ่มขึ้นทั้งในแง่อัตราเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy) และราคาห้องพักเฉลี่ย (ADR) แม้ว่าโรงแรมในกรุงเทพฯ จะเผชิญความท้าทายจากภาวะห้องพักล้นตลาด แต่เมื่อความต้องการเริ่มกลับมา จึงเริ่มเห็นสถานการณ์ดีขึ้นทั้งจากลูกค้าเดิมและกลุ่มใหม่ 
เมื่อดีมานด์ขยายตัวไล่ทันจำนวนห้องพักสะสมที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) ของโรงแรมในกรุงเทพฯ (ไม่รวมโรงแรมเปิดใหม่) ปี2559 เติบโต 10% เทียบปี 2558
โรงแรมในไทย เห็นการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนยังมีนัยสำคัญและมีส่วนแบ่งจากห้องพักที่ขายได้เพิ่มขึ้น จาก 14% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 20% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 
หากพิจารณาตลาด 5 อันดับแรกที่เข้าพักกับโรงแรมในเครือไมเนอร์ทั้งหมดทั่วโลก แม้ว่าจีนจะยังคงครองสัดส่วนอันดับ 1 ที่ 13% แต่เป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจาก 14% ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะฐานลูกค้าหดตัวลง แต่มาจากบริษัทเพิ่มพอร์ตกลุ่มโรงแรมทิโวลี ในยุโรปเข้ามาทำให้ตลาดหลักอย่าง สหราชอาณาจักร (ยูเค), โปรตุเกส และบราซิล ที่ขยายตัวมาแชร์ส่วนแบ่งตลาดจีน
“ตลาดจีนเป็นแหล่งลูกค้าใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 เพิ่มสัดส่วนเป็น 13% ของยอดขายห้องพักทั้งหมด เติบโตก้าวกระโดดจาก 6% เมื่อ 5 ปีก่อน”
ส่วนตลาดหลักอันดับ 2 ได้แก่ ยูเค เพิ่มสัดส่วนจาก 7% ในปี 2558 มาเป็น 12% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 ตามด้วยเยอรมนี 6% อเมริกา 5% และลูกค้าคนไทย 5% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2558 อยู่ที่ 6% 
ด้านธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ มีไฮไลท์ในโปรตุเกส ซึ่งแม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่แล้วมีผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว แต่การท่องเที่ยวเริ่มกลับพลิกฟื้นและเติบโตอย่างแข็งแกร่งปีนี้ โดยกิจการโรงแรมทิโวลี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ที่ไมเนอร์เข้าครอบครองสำเร็จในเดือน ก.พ.ปีนี้ RevPar จากต้นปีถึงปัจจุบันเติบโต 10% เทียบช่วงเดียวกันปี 2558
นอกจากนั้นการเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวยุโรปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปัจจุบันโรงแรมในโปรตุเกสยังได้อานิสงส์มากขึ้นเมื่อลูกค้าในภูมิภาคเริ่มเปลี่ยนแผนการเดินทางจากจุดหมายที่เป็นคู่แข่ง อาทิ ประเทศแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันออกและแอฟริกาเหนือมาเที่ยวมากขึ้น
ส่วนโรงแรมในแซมเบีย มีรายงาน RevPar ที่เติบโต 15% ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก อาทิ น้ำตกวิกตอเรีย โรงแรมอนันตราและอวานี จึงได้รับประโยชน์โดยตรงจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง 
อีกทำเลที่น่าจับตามองได้แก่ ศรีลังกา ซึ่งมีฐานนักท่องเที่ยวเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย จึงเชื่อว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพท่องเที่ยวในระยะยาว และปีนี้ไมเนอร์เข้าเปิดโรงแรมอนันตราใหม่ถึง 2 แห่ง ทำให้พอร์ตในศรีลังกามีแล้ว 6 โรงแรม โดย RevPar เติบโตเกือบ 20%

‘กระจายความเสี่ยง’ โจทย์ใหญ่ LST

หลังสารพัดความเสี่ยงในธุรกิจน้ำมันปาล์ม ‘กดดันกำไร’ ‘อัญชลี สืบจันทศิริ’ บอสใหญ่ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) เล็งซื้อกิจการอาหารเพิ่มเติม
ความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์ม , การแทรกแซงจากภาครัฐ , น้ำมันปาล์มขาดตลาด และผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบรรจุขวดและผลปาล์มสดเป็นสินค้าควบคุม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) หรือ LST ผู้ดำเนินธุรกิจโรงสกัด (CRUSHING MILL) และโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม (REFINERY) ขยายตัวอย่างเชื่องช้า
ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทหมดเวลาไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการกระจายความเสี่ยงออกไปสู่ธุรกิจอาหารใหม่ๆ ซึ่งเมื่อปี 2557 บริษัทได้ขยายธุรกิจตลาดกลุ่มเบเกอรี่ โดยได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช๊อคโกแลตอเนกประสงค์ ตราเดซี่ สำหรับทำขนมและเคลือบหน้าขนม
ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าทำตลาดน้ำมันปาล์มหยก ขนาดบรรจุ 5 ลิตร และน้ำมันคาโนล่า ขนาด 13.75 ลิตร เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคารขนาดเล็ก และธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงยังปรับปรุงแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ สำหรับสินค้าน้ำมัน ผลไม้ ภายใต้แบรนด์ UFC ในกล่อง UHT ให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น และได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายน้ำมะพร้าว 100% ในธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส
ปัจจุบันเจ้าของวิสัยทัศน์ ‘บริษัทชั้นนำในธุรกิจอาหารที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน’ จำหน่ายผลิตภัณฑ์หลัก 6 ประเภท ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม ยี่ห้อหยก ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็น ต้น ผลิตภัณฑ์ไขมันพืชผสมและเนยเทียม ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทในเครือ บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หรือ UPOIC
นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้บรรจุกระป๋อง ถุง Pouch และขวดแก้ว ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทในเครือ บมจ.อาหารสากล หรือ UFC ปัจจุบัน ‘ล่ำสูง’ มีกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ 1,000 ตันต่อวัน หรือ 365,000 ตันต่อปี ถือเป็นโรงกลั่นน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของ เมืองไทย
‘อัญชลี สืบจันทศิริ’ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) เล่าให้ ‘กรุงเทพธุรกิจ Biz Week’ ฟังว่า บริษัทยังคงมองหาธุรกิจอาหารใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อปีก่อนได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาธุรกิจอาหารประมาณ 4-5 แห่ง แต่สุดท้ายยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากบริษัทบางแห่งเสนอราคาขายค่อนข้างสูง ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรไม่เป็นไปตามที่บริษัทต้องการ
ตามแผนงานบริษัทจะพยายามลดสัดส่วน ‘ธุรกิจกลุ่มน้ำมันพืช’ ที่อยู่สูงถึงกว่า 60% และจะมองหาธุรกิจอาหารใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะเราอยากเห็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มน้ำ พืช และกล่มุอาหารฝั่งละ 50% ซึ่งการจะมีสัดส่วนเช่นนั้นได้ เราต้องมีธุรกิจอาหารที่มีขนาดเท่ากับ ‘ยูเอฟซี’ ประมาณ 2 บริษัท
‘ธุรกิจอาหารเป็นกิจการยั่งยืนที่สุด เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้’ ‘กรรมการผู้จัดการ’ เชื่อเช่นนั้น เธอขยายความว่า เราซื้อหุ้น ‘ยูเอฟซี’ มาเมื่อปี 2547 แต่บริษัทเริ่มมีกำไรสุทธิในปี 2551 ประมาณ 10-20 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ไม่สูง
แต่หลังยูเอฟซีออกผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว 100% ในปี 2557 ทำให้มีกำไรสุทธิสูงถึง 600 ล้านบาท ปัจจุบันคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นเราเชื่อว่า ภายในปี 2558 ยูเอฟซีจะล้างขาดทุนสะสมหมด และสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในปีหน้า
‘จากนี้ ‘ยูเอฟซี’ จะกลายเป็น ‘พระเอก’ ของกลุ่มล่ำสูง ฉะนั้นความมีเสถียรภาพของผลประกอบการกำลังจะเกิดขึ้น ตัวเลขกำไรสุทธิของกลุ่มจะไม่ผันผวนอีกต่อไป’
เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมน้ำมันพืชในปี 2558 เธอ วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยังคงมีการแข่งขันรุนแรง แต่คงไม่หนักเหมือนปีก่อน ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัว ส่วนตัวมองว่า ผู้ที่จะอยู่รอดในธุรกิจนี้ ต้องเข้าใจทิศทางของราคาวัตถุดิบ
ที่สำคัญต้องบริหารสต็อกสินค้าให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์น้ำมันปาล์มขาด ตลาดยังคงมีอยู่ แต่ไม่รุนแรง ซึ่งในส่วนของบริษัทจะสต็อกสินค้าไม่เกิน 3 เดือน เพราะน้ำมัน ในคลังของเราสต๊อกได้เต็มที่เพียง 45 วัน
‘เราจะไม่แข่งขันในธุรกิจจนไม่มีกำไร’ นายใหญ่ ยืนยัน
ส่วนตัวเชื่อว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/58 ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 66.48 ล้านบาท หลังผลผลิตน้ำมันปาล์ม เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาผลปาล์มปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
จากกิโลกรัมละ 6 บาทกว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. เหลือต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาน้ำมันปาล์ม ดิบปรับลดลงจากกิโลกรัมละ 37 บาท เหลือกิโลกรัมละ 26-27 บาท ณ สิ้นเดือน มี.ค.ฉะนั้นต้นทุนผลปาล์มจะลดลง
‘บริษัทมีแผนจะลงทุนในเครื่องจักร เพื่อปรับปรุงการผลิต รวมถึงลงทุนเครื่องจักรในส่วนที่จะมาทดแทนกำลังการผลิตเดิม ซึ่งคงใช้เม็ดเงินลงทุนไม่มาก’
‘อัญชลี’ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อ 12 ปีก่อน ‘สมชัย จงสวัสดิ์ชัย’ อดีตกรรมการผู้จัดการ LST มองว่า ความเสี่ยงจากการทำธุรกิจน้ำมันปาล์มจ อาจส่งผลกระทบต่อผล ประกอบการของบริษัท ฉะนั้นคณะกรรมการจึงมีนโยบายให้กระจายความเสี่ยง ด้วยการหันไปรุกธุรกิจอาหาร
ทั้งนี้บริษัทได้ตัดสินใจซื้อกิจการบมจ.อาหารสากล หรือ ยูเอฟซี แม้บริษัทดังกล่าวจะมีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท แถมเครื่องจักรและโรงงานยังเก่ามาก แต่ทีมบริหารเชื่อว่า อนาคตบริษัทแห่งนี้จะสร้างกำไรให้กลุ่มล่ำสูง ปัจจุบันก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า เราคิดไม่ผิด แม้จะใช้เวลายาวนานก็ตาม
‘ราคาหุ้น LST ไม่ค่อยเคลื่อนไหว อาจเป็นเพราะมีสภาพคล่องต่ำ เพราะหุ้นส่วน ใหญ่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งหลายรายมักถือลงทุนระยะยาว เพื่อรอรับเงินปันผล ปัจจุบันบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ’ ‘อัญชลี’ เล่าความสวย 
                                                     ‘พื้นฐาน & ปันผล’ หุ้นทำเงิน
‘อัญชลี สืบจันทศิริ’ เล่าเรื่องการลงทุนส่วนตัวให้ฟังว่า เริ่มลงทุนหุ้นในลักษณะ ‘เก็งกำไร’ ก่อนเมืองไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง พอร์ตหุ้นเสียหาย ‘หลักล้านบาท’ ทำให้ตัดสินใจหยุดลงทุนในที่สุด
หายจากหน้าจากตลาดหุ้นไป 10 กว่าปี ก็กลับมาซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพราะต้องการนำมาลดหย่อนภาษี ซึ่งผลการลงทุนใน LTF คือ ไม่เคยขาดทุน ทำให้หันกลับมามองการลงทุนในตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง คราวนี้ขอเน้นพื้นฐานดี ปันผลงาม ส่วนพวกเก็งกำไรขอโบกมือลา
เธอ บอกว่า มีโอกาสกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นจริงจังเมื่อ 2 ปีก่อน หลังพบว่า ลงทุนในหุ้นพื้นฐานได้กำไรดีกว่านำเงินไปฝากแบงก์ โดยผลตอบแทนในปี 2557 อยู่ระดับ 3-4% แม้ไม่สูงมากกว่า แต่ดีกว่าดอกเบี้ยแบงก์ ปัจจุบันมีหุ้นในพอร์ต 4-5 ตัว มูลค่าลงทุน 10 ล้านบาท
‘ผลตอบแทนปีละ 10%’ ‘อัญชลี’ บอกเป้าหมายการลงทุน พร้อมเล่าความสวยของหุ้นในพอร์ตว่า ปัจจุบันมีหุ้นกลุ่มสื่อสารอยู่ในมือ 2 ตัว คือ หุ้น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และ หุ้น โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC สาเหตุที่ชอบหุ้นสองตัวนี้ เพราะแนวโน้มธุรกิจมีโอกาสขยายตัว ฉะนั้นการที่ธุรกิจจะไม่เติบโตมีเพียงเรื่องเดียว คือ คนเลิกใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นไปได้ยาก
นอกจากนั้นยังมี หุ้น สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ซื้อหุ้นตัวนี้แถว 100 กว่าบาท ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทมีปัญหาเรื่องการลงทุนในต่างประเทศ เรามองว่าอีกไม่นานราคาจะกลับมา ขณะเดียวกันยังมี หุ้น ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เขาเป็นแบงก์ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน แถมยังมีคนที่ใช้บริการจำนวนมาก
ขณะเดียวกันยังมี หุ้น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH โดยโครงการของ LH มีมาตรฐานที่ดี และบริษัทมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งกลยุทธ์สร้างเสร็จก่อนขายของ LH ถือเป็นตัวดึงดูดเงินลงทุน เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวกำลังบ่งบอกว่า บริษัทไม่ต้องการเงินของลูกค้ามาลงทุนก่อน นั่นแสดงว่า บริษัทต้องมั่นใจว่า บ้านสร้างเสร็จก่อนขายจะต้องขายได้อย่างแน่นอน
เธอ เล่าต่อว่า ตอนนี้กำลังศึกษาและรอจังหวะที่จะเข้าไปลงทุนใน หุ้น แสนสิริ หรือ SIRI ซึ่งมองว่าเป็นหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ดีอีกตัวหนึ่ง เพราะเป็นผู้ประกอบการที่สร้างบ้านเสร็จก่อนขายเหมือนกัน แถมราคาบ้านก็อยู่ระดับใกล้เคียง LH และราคาหุ้นยังไม่แพงมาก
นอกจากนั้นยังเล็งจะซื้อหุ้น ‘กลุ่มโรงพยาบาล’ แต่ติดอยู่ที่ว่า ราคาสูงมากเกินไป แต่ถ้ามองในแง่ของธุรกิจยังถือว่ามีโอกาสเติบโตอีกมาก ปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนมีเงิน และพร้อมที่จะเสียค่ารักษาพยาบาล
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้จะเน้นหุ้นที่อยู่ใน SET 50 โดยจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นในช่วงที่ไล่ราคากัน แต่จะรอจังหวะที่ราคาปรับตัวลดลง และไม่วิ่งไปไหนนาน 3-4 เดือน ส่วนตัวมองว่า การลงทุนในหุ้นพื้นฐาน แม้ราคาจะลดลง แต่เมื่อพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน อีกไม่นานหุ้นจะกลับมา

Review: BGH

Cr Hybrid Investment’s status.

Review: BGH

จะว่าไป หุ้น BGH หรือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ก็เหมือนหุ้นที่รวมเอาโรงพยาบาลทั้งประเทศเข้าไว้ด้วยกัน
หลายคนอาจเข้าใจว่า BGH คือ “โรงพยาบาลกรุงเทพ” เท่านั้น แต่ที่จริงนอกจากกลุ่มของโรงพยาบาลกรุงเทพแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาล BNH และกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรงพยาบาลที่ BGH เข้าไปถือหุ้น แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร เช่น บำรุงราษฎร์ (BH) รามคำแหง (RAM) สมิติเวช ธนบุรี (KDH) เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น
กลยุทธ์ในการเติบโตของ BGH แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท หนึ่งคือ “สร้างโรงพยาบาลใหม่เอง” สองคือ “ซื้อหุ้นของโรงพยาบาลอื่น”
(หากอยากทราบว่าบริษัทสร้างโรงพยาบาลเองเท่าไร ซื้อหุ้นเอาเท่าไร ดูได้ใน “งบกระแสเงินสด” ในส่วน “กิจกรรมลงทุน” เอาไว้ถ้ามีโอกาสจะมาลงรายละเอียดอีกทีนะครับ)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา BGH เข้า take over โรงพยาบาลอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล
คำถามคือบริษัทเอาเงินมาจากไหน?
คำตอบก็คือ ใช้การ “ออกหุ้นกู้” เป็นหลัก โดยหุ้นกู้ที่ออกมีอยู่หลายชุด และจะครบกำหนดในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อ match กระแสเงินสดจากธุรกิจที่เข้ามา ให้พอดีกับการครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
พูดง่ายๆ ก็คือ บริหารให้ “กระแสเงินสด” เข้ามาทัน “ใช้หนี้” นั่นเอง
(โรงพยาบาลใหม่แต่ละแห่ง กว่าจะคืนทุนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี จึงต้องบริหารให้ดี)

จากความน่าเชื่อถือของบริษัท ทำให้ BGH ได้ credit rating ระดับ A+ (ระดับสูงสุด) ดังนั้น เวลาออกหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินจึงไม่สูง พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องให้ดอกเบี้ยกับผู้ซื้อหุ้นกู้มากนัก เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ได้เครดิตต่ำกว่า (อย่างบริษัทที่ฐานะการเงินไม่ดี มีหนี้สินเยอะ) จึงถือว่าได้เงินกู้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่านั่นเอง
และล่าสุดในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุมก็เพิ่งอนุมัติให้ออกหุ้นกู้เพิ่มด้วยวงเงิน 20,000 ล้านเป็นที่เรียบร้อย
ที่ผ่านมา “อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน” หรือค่า D/E ของ BGH ไม่เคยเกิน “1 เท่า”
ทั้งนี้เนื่องจาก EBITDA หรือ “กำไรในรูปเงินสด” ที่เข้ามายังบริษัทในแต่ละปี อยู่ในระดับ “10,000 ล้านบาทอัพ” ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้แน่นอนอยู่แล้ว บริษัทจึงไม่เคยมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ที่อธิบายมาทั้งหมด คือเรื่องของ “การใช้เงินทุน” (Uses of Funds) และ “แหล่งเงินทุน” (Sources of Funds) คราวนี้มาดู “ผลประกอบการ” ของบริษัทกันบ้าง
ดูจากงบการเงินปี 56 รายได้ของ BGH โตขึ้นประมาณ 11% แต่ gross margin, EBIT margin และ EBITDA margin ลดลง 2-3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุที่ margin ลดลง น่าจะเกิดจากการที่ BGH จ้างบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยเพิ่มทั้ง “จำนวนคน” และ “ค่าจ้างต่อหัว” เนื่องจากบริษัทกำลังขยาย “โรงพยาบาลเครือข่าย” ออกไปอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้นทุนจากการขยับขยายนี้จะสูงขึ้นในระยะเริ่มแรก
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมถือว่าบริษัทยังคงรักษา margin ต่างๆ ไว้ได้ในระดับที่ดี

ในส่วนของตัวเลขกำไรสุทธิ หากไม่รวม non-recurring items ซึ่งเป็นกำไรพิเศษ ถือว่ากำไรสุทธิของ BGH ในปี 56 เทียบกับปี 55 แทบจะเท่าเดิม (ปี 56 กำไรสุทธิ 6,372 ล้าน ปี 55 กำไรสุทธิ 6,367 ล้าน)
(แต่หากรวมเอา non-recurring items เข้ามาด้วย อาจจะตกใจ เพราะในปี 55 มี กำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน + ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม สูงถึง 2,071 ล้านบาท ทว่าปี 56 มีตรงนี้น้อยมาก ดังนั้นจะพบว่ากำไรสุทธิปี 56 ลดลง 20% ซึ่งไม่สะท้อนผลการดำเนินงานจริง)
ถ้าดูจากงบกำไรขาดทุนบรรทัดสุดท้าย จะเห็นว่า “อัตรากำไรสุทธิ” (net profit margin) ลดลงจากปี 55 ซึ่งอยู่ที่ 17.1% เป็น 12.2% ในปี 56
ตรงนี้เหมือนกับจะลดลงเยอะ แต่ก็เช่นเคย คือหากไม่รวม non-recurring items ซึ่งเป็นเพียงกำไรทางบัญชีที่บันทึกไว้เป็นจำนวนมากในปี 55 อัตรากำไรสุทธิของปี 55 จะอยู่ที่ 12.6% และปี 56 จะอยู่ที่ 11.9% ถือว่าลดลงสอดคล้องกับ margin ต่างๆ ที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น
(สี่ย่อหน้าข้างบนนี้ คนที่ไม่มีพื้นฐานอาจจะงงสักนิดหนึ่ง ลองอ่านอีกรอบก็ได้นะคะ เพื่อความเข้าใจ)

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง คือ “ความประหยัดจากขนาด” หรือ Economies of Scale
Economies of Scale ของธุรกิจโรงพยาบาล มักเกิดจากการที่โรงพยาบาลในเครือสามารถ “ส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกัน” ได้ (ที่เรียกว่าระบบ Referral System) และประหยัดต้นทุนจากการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และยาในปริมาณมากๆ
จึงต้องจับตาดูให้ดีว่า ในอนาคต BGH จะได้รับประโยชน์จากการส่งต่อผู้ป่วยและสั่งซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ ส่งผลให้มี EOS มากน้อยขนาดไหน แต่ผู้บริหารยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทถือเป็นเครือโรงพยาบาลที่บริหารต้นทุนได้คุ้มค่ามากอยู่แล้ว (ศัพท์ธุรกิจคือมี Cost Efficiency สูง)

อีกตัวเลขหนึ่งซึ่งบ่งบอกถึงศักยภาพของธุรกิจโรงพยาบาล คือ “อัตราการครองเตียง” หรือ Active Beds ซึ่งหมายถึงการที่มีผู้ป่วยเข้าไปนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยใน”

ในปี 2553, 2554 และ 2555 อัตราการครองเตียงของ BGH อยู่ที่ประมาณ 65%, 66% และ 70% ตามลำดับ โดยในปี 2555 ตัวเลข Active Beds สูงขึ้นมาก อยู่ที่ราวๆ 3,000 เตียง จากจำนวนทั้งหมด 4,285 เตียง
อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 2556 อัตราการครองเตียงของ BGH ลดลงมาเหลือ 66% จากจำนวนเตียงที่เพิ่มขึ้นเป็น 4,652 เตียง (เพิ่มขึ้นร่วม 400 เตียง จากการขยายกิจการ) ซึ่งเท่ากับมี Active Beds ประมาณ 3,070 เตียง
จะเห็นได้ว่า แม้เปอร์เซ็นต์ของ Active Beds จะลดลง แต่จำนวนสุทธิไม่ได้ลดลง และถือว่ายังอยู่ในระดับที่ “สูง”

ด้วยสถานภาพปัจจุบัน BGH เป็นเครือโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ที่สำคัญคือ เป็นเครือโรงพยาบาลที่มีอัตรากำไรสุทธิถึง 11.9% ถือว่าสูงที่สุดในโลก เหนือกว่าทุกโรงพยาบาลในทุกประเทศ
และจากการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด ผู้บริหารบอกว่าจะทำให้กำไรสุทธิเติบโตในอัตรา 11% ไปเรื่อยๆ และจะรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับ 10-12%
กล่าวคือแม้จะพยายามโต แต่ก็จะ keep อัตรากำไรไม่ให้ต่ำ (ย้ำว่านั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารพูด แต่จะทำได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
สำหรับผลกระทบจากวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารบอกว่า ก็มีกระทบบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าต่างชาติ แต่บริษัทก็พยายามปรับตัว และมีการชะลอการเปิดสาขาใหม่ไปบ้าง หากสถานการณ์ยังไม่ดี

ในอนาคต BGH ยังมีแผนจะสร้างและซื้อโรงพยาบาลอีกมากตามหัวเมืองใหญ่ๆ ของแต่ละภาคในประเทศไทย และจะขยายโรงพยาบาลระดับรอง (second-tier) ควบคู่ไปด้วย อีกทั้งยังมี “คลินิกเบื้องต้น” (TeleCare Clinic) เอาไว้รักษาอาการป่วยพื้นฐาน ที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 3 แห่ง

ในส่วนของแผนสำหรับ AEC จะเริ่มต้นเปิดเกมรุกจาก “อาเซียนตอนบน” โดยเน้นพื้นที่ที่ไม่ไกลเกินไปนัก เพื่อให้บริษัทแม่ดูแลได้ทั่วถึง และเมื่อเริ่มลงตัวแล้วจะขยับขยายไปเปิดสาขาทางตอนใต้ของจีนและเอเชียแปซิฟิกต่อไป (ในปี 56 เปิดที่พนมเปญแล้วสองแห่ง ใช้เงินไปประมาณ 1,000 ล้าน)

โดยสรุป BGH เป็นธุรกิจที่เน้น growth สุดๆ หากจะลงทุน ต้องทำใจว่ากำไรอาจไม่เพิ่มขึ้นพรวดพราดในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากต้องเอาเงินไปลงทุนใหม่ตลอดเวลา และเมื่อเปิดโรงพยาบาลใหม่แต่ละแห่งก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะคืนทุน

หุ้นตัวนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่หวังจะ “ซื้ออนาคต” โดยจับ “เมกาเทรนด์” ในเรื่องของสุขภาพ โดยต้องการบริษัทที่เป็น “นัมเบอร์วัน” ในอุตสาหกรรม และพร้อมจะอยู่กับมันไปยาวๆ เท่านั้น

InfoQuest News – JAS ก้าวสู่โอกาสใหม่

InfoQuest News – JAS ก้าวสู่โอกาสใหม่

27-11-2013 04:09:17

หลังจากเสียเวลาไปนานหลายเดือน กับความขลุกขลักและอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งถ่วงรั้งแผนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ IFF มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ก็บรรลุเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนแล้ว เมื่อล่าสุด ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) มีมติด้วยคะแนนเสียง 92.25% ซึ่งมากกว่าคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนโดยไม่นับผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย อนุมัติให้กระทำได้
การผ่านมติดังกล่าว ทำให้เป้าหมายที่คาดว่าจะก่อตั้งกองทุน IFF ดังกล่าว ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ก้าวล่วงไปอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเพียงรายละเอียดในเรื่องขั้นตอนของ ก.ล.ต. และอื่นๆ เท่านั้น
ข่าวดังกล่าว ถือเป็นการปลดปล่อยความกังวลของผู้ถือหุ้น JAS ไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว หลังจากที่เผชิญกับข่าวร้ายหลายครั้ง จนกระทั่งหุ้นมีความผันผวนของราคาหลายระลอกมาตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ทั้งที่ผลประกอบการดีมาโดยตลอดต่อเนื่องทุกไตรมาส
การอนุมัติของผู้ถือหุ้น หมายความว่า JAS หรือบริษัทย่อยสามารถเข้าทำรายการขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตให้แก่กองทุนฯ สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ขนาดรายการอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้บริษัทนำหุ้น 76% ของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่ง JAS ถือหุ้นทางอ้อม 99.2% และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด หรือ TTTI ซึ่งถือหุ้นทางอ้อม 99.9% ไปจำนำเป็นหลักประกันแก่กองทุนฯ คิดเป็นมูลค่ารายการอยู่ที่ 3,616 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 91.287%
นอกจากนั้น ยังรวมถึงการให้ JAS และบริษัทย่อย เช่าสินทรัพย์ทั้งหมดจากกองทุนฯ ในลักษณะการเช่าเพื่อดำเนินงานทรัพย์สินเพื่อใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ อายุสัญญาเช่าจะมีกำหนด 12 ปี หรือ 7 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินที่เช่า
ท้ายสุด ที่ประชุมมีมติให้บริษัท หรือนิติบุคคลที่บริษัทกำหนดให้เป็นผู้ทำหน้าที่จองซื้อหน่วยลงทุน ทำการจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนฯ เป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด ขนาดรายการ 20,000-23,000 ล้านบาท
มติที่ผ่านที่ประชุมวิสามัญดังกล่าว ถือเป็นข่าวดีสำหรับอนาคตที่รอคอยอย่างแท้จริงของ JAS เพราะสามารถตอบโจทย์เก่าที่เคยตอบข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งระบุย้ำถึงคำตอบยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทที่ชัดเจนว่า ต้องการรุกทางธุรกิจให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับภาคธุรกิจ หรือ FTTX (โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ให้ความเร็วสูงมาก และให้ความเร็ว 1,000 Mbps โดยใช้สาย Optical Fiber ไปถึงลูกค้า) ในขณะที่คู่แข่งขันที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน อย่าง ทีโอที และทรู ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ
5 คำถามตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 5 คำตอบของ JAS ในการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
คำถามคำตอบสินทรัพย์ที่จะลงทุนเพิ่มในอีก 3 ปีข้างหน้าคืออะไร และสาเหตุที่ต้องลงทุนเพิ่มเพราะอะไรสินทรัพย์ที่จะลงทุนเพิ่ม คือ โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต เพื่อให้มีจำนวนลูกค้าผู้ใช้บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้นเงื่อนไขการชำระค่าเช่าอยากให้ระบุว่าเป็นรายเดือนหรือรายปี เงื่อนไขการชำระค่าเช่าขึ้นอยู่กับข้อตกลงสุดท้ายระหว่างบริษัท และกองทุน การกำหนดค่าเช่า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 29,400 ล้านบาท กำหนดจากอะไรการกำหนดค่าเช่า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 29,400 ล้านบาท กำหนดจากอะไรค่าเช่ากำหนดจากผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน และตัวเลขดังกล่าว บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯขอให้ขยายความคำว่า FTTXขอให้ขยายความคำว่า FTTXคำว่า FTTX หมายถึง โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ให้ความเร็วสูงมาก และให้ความเร็ว 1,000 Mbpsโดยใช้สาย Optical Fiber ไปถึงลูกค้าทุกรายแผนการใช้เงินที่ได้จากกองทุนคืออะไรบริษัทมีเป้าหมายใช้เงินเพื่อจะขยายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทั้งระบบ ADSL และระบบ FTTX ให้เกิดจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่ม Speed ของบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว และบริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นของ JAS
จากการให้ข้อมูลเบื้องต้น และการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง มีการประเมินว่า JAS และบริษัทย่อยจะได้รับเงินจากการระดมทุนในการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯ ประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท หลังหักเงินลงทุนในหน่วยของกองทุนรวมฯ ประมาณ 20,000-23,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการทำรายการประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท สำรองภาษีประมาณ 8,940-10,840 ล้านบาท และเงินลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อการส่งมอบสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯ ประมาณ 3,800 ล้านบาท
เงินสดจากรายการหักแล้ว ประมาณ 25,760-30,360 ล้านบาท สำหรับการชำระหนี้สินและการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจของบริษัท คาดว่าจะบันทึกกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ประมาณ 44,700-54,200 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาเช่า และหลังหักค่าใช้จ่ายและภาษี จะเหลือกำไรสุทธิจากรายการประมาณ 35,760-43,360 ล้านบาท ซึ่งการบันทึกกำไรทางบัญชีจะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
ขณะเดียวกันในช่วง 12 ปีข้างหน้า JAS จะมีภาระค่าเช่าทรัพย์สินที่ต้องจ่ายสุทธิให้กองทุน IFF ที่จะทยอยเพิ่มขึ้นจาก 2,600 ล้านบาทต่อปี ไปจนถึง 6,400 ล้านบาทต่อปี โดยที่ผลกระทบจากการเช่าทรัพย์สินต่อผลประกอบการของ JAS จากความเสี่ยงของการทำกำไร หาก EBITDA ลดลงต่ำกว่าค่าเช่าต่อปี โดยในกรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) หากจำนวนลูกค้า ADSL 1.5-2.0 ล้านราย และ ARPU ลดลงต่ำกว่า 560 บาท จากการแข่งขันรุนแรง ก็ยังจะไม่ต่ำกว่า 560 บาท และมี EBITDA เฉลี่ย 5,545-7,851 ล้านบาทต่อปี
ธุรกรรมครั้งนี้ ถูกประเมินว่าจะทำให้มูลค่าต่อหุ้น JAS เพิ่มขึ้นประมาณ 0.90 บาท จากมูลค่าเหมาะสมไม่รวม IFF ที่ 11.20 บาท นอกจากนี้ การระดมทุนก้อนใหญ่จะเพิ่มอำนาจการแข่งขันรองรับขยายฐานลูกค้าระดับบน FTTX และลดความเสี่ยง ARPU ที่ลดลง เรายังให้น้ำหนักต่อการจ่ายเงินปันผลพิเศษหุ้นละ 0.70-1.00 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนเงินปันผล 9-13%
การประเมินในเชิงบวกดังกล่าว ถือได้ว่า อนาคตของ JAS ที่มุ่งมั่นจับทางของธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่จะยังคงเป็นขาขึ้นอีกหลายปีในอนาคต ยังคงสดใสต่อไป และทำให้เป้าหมายของบริษัทในการสร้างการเติบโตของรายได้ในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนปีละ 25% ไม่ไกลเกินจริง
ย่างก้าวใหม่เพื่อสู่อนาคตนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนฯ เป็นโอกาสให้ JAS ก้าวเหนือคู่แข่ง โดยบริษัทมีเป้าหมายเป็นอันดับ 1 ในตลาดบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ซึ่งขึ้นมาจากอันดับ 3 ตามหลัง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
เงินสดที่ได้รับจากการตั้งกองทุน IFF ทำให้ปัจจุบันบริษัทดีขึ้นต่อเนื่อง และอนาคตจะดียิ่งขึ้นไปอีก โดยผู้บริหารเชื่อมั่นว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะทำรายได้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 25% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 10,501.85 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมี EBITDA อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มี EBITDA 4,500 ล้านบาท จากการเติบโตของยอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ ที่คาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 220,000 ราย ทำให้ในสิ้นปีนี้ฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านราย
ความมั่นใจดังกล่าว เกิดจากความมั่นใจว่าเกมรุกในธุรกิจด้วยการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงความเร็ว 1Gbps ของผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber To Home) เพื่อสนองตอบเครือข่ายสื่อสารของภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่ง โดยที่นักวิเคราะห์พากันปรับการคาดการณ์ใหม่ บางรายถึงขั้นที่ว่าการลงทุนในอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์จะดันกำไร 3 ปีก้าวกระโดด โตปีละ 29%
อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คือคำตอบที่จะทำให้JAS แซงหน้าคู่แข่งหลัก คือ TOT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาโดยตลอด ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ไม่นับรายย่อยอีกนับสิบรายซึ่งไม่อยู่ในฐานะจะแข่งขันได้
เหตุผลสำคัญคือ เทคโนโลยี LTE ที่จะมาพร้อมกับพัฒนาการในอัตราเร่งของเครือข่ายโทรคมนาคม 3G กำลังเร่งเคลื่อนเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ในทางธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งเคลื่อนตัวผสมผสานเข้ากับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็น LTE หรือเครือข่ายก่อน 4G เป็นการช่วงชิงโอกาสที่มีความหมายลึกซึ้งในทางธุรกิจอย่างมาก
แกนหลักสำคัญของพัฒนาของ LTE อยู่ที่ การส่งข้อมูลทั้งเสียง ข้อความ และรูปภาพในอัตราเร็ว ความหน่วงของเวลา (หมายถึงเวลาที่ใช้ไปในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยความจำ) และจำนวนความจุของข้อมูล ในกระบวนการสื่อสารผ่านเครือข่าย ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างการนำส่งข้อมูลต้นทาง (uplink) ที่ต่ำกว่าการส่งข้อมูลไปยังผู้รับปลายทาง (downlink) ที่เสถียร
ส่วนในปี 2557 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 20-25% จากปี 2556 โดยส่วนหนึ่งจะมาจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มของผู้ใช้บริการบอร์ดแบนด์ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 300,000 ราย ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการเงินของบริษัทแข็งแกร่งอย่างก้าวกระโดด
ย่างก้าวที่สดใสเช่นนี้ ทำให้ JAS เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่งมาตลอด ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง แต่สิ่งที่รบกวนให้การขึ้นของราคาหุ้นซึ่งถูกมองว่ายังต่ำเกินไป ไม่สามารถทะลุถึงราคาเป้าหมายเหนือ 11 บาทได้ มักจะเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไรนัก ประมาณ 2 เรื่องหลัก คือ 1)เรื่องของศาลฎีกากลับคำพิพากษาโดยยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเรื่องเก่า ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพราะทรัพย์สินที่ขายเข้ากองทุนฯ เป็นทรัพย์สินที่เกิดหลังจากศาลได้ยกเลิกแผนฟื้นฟูแล้ว กับเรื่องของข่าวลือว่าผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารขายหุ้นทิ้ง ซึ่งไม่เคยเป็นความจริงมาโดยตลอด
ปี 2557 จะทำให้ JAS ทิ้งอดีตที่ขื่นขมได้หมดสิ้น และก้าวสู่โอกาสใหม่อย่างมั่นใจมากขึ้น หาก ก.ล.ต. ยอมรับแผนการตั้งกองทุน IFF เรียบร้อยแล้ว

โต 30% ทุกปี คำการันตีหุ้น AIE

โต 30% ทุกปี คำการันตีหุ้น AIE

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แม้ไม่ใช่เจ้าของหุ้น IPO น้องใหม่ “เอไอ เอนเนอร์จี” แต่ “อนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์” เอ็มดีใหญ่ พร้อมตะลุยทำงานเต็มสูบ เพื่อเป้าหมายเติบโต

ใครจะรู้!! “จุดกำเนิด” บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี หรือ AIE ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลจาก น้ำมันปาล์ม และน้ำมันปาล์มโอเลอีนผ่านกรรมวิธี ตรา “พาโมลา” เกิดเพียงคำเชื้อเชิญสั้นๆของ “ณรงค์ ธารีรัตนาวิบูลย์” เจ้าของ “เอเชียน อินซูเลเตอร์” หรือ AI ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 75 เปอร์เซ็นต์หุ้น AIE และพี่ชายคนโตของน้องชายคนที่ 3 “อนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์” กรรมการผู้จัดการ “เอไอ เอนเนอร์จี”

“ว่างมั้ยมาช่วยทำธุรกิจไบโอดีเซลหน่อย”

บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี กดบัตรคิวเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 6 ม.ค.2557 ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก 445 ล้านหุ้น โดยจะขายให้กับ “เอเชียน อินซูเลเตอร์” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 59.59 เปอร์เซ็นต์ (ตัวเลขหลังขายหุ้น IPO) จำนวน 250 ล้านหุ้น อัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อสิทธิการจองซื้อหุ้น AIE จำนวน 1 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท ราคาหุ้นละ 4.75 บาท

“สิ้นเสียงคำเชิญผมรีบตอบพี่ชายทันทีว่า “ว่างครับ” เพราะธุรกิจโรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น จังหวัดชุมพร และธุรกิจเคเบิ้ลทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวลงตัวหมดแล้ว ทุกวันนี้ธุรกิจทุกตัว “กำไร” ไม่มีตัวไหน “ขาดทุน” ตอนปี 2550 เขาให้เราไปดูแค่เรื่องบัญชี ก่อนจะค่อยๆเข้ามาบริหารเต็มตัว “อนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์” เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

ตระกูลธารีรัตนาวิบูลย์ มีพี่น้อง 7 คน ธุรกิจดั่งเดิมคือ “ประมง” หลังเรียนจบปริญญาตรี B.A. Economics – Adelphi University, Long Island, NY, USA และปริญญาโท MBA Marshall University, West Virginia, USA ก็กลับมาช่วยงานครอบครัว ด้วยความที่ไม่ชอบอยู่นิ่งๆทำให้แยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง เริ่มจากธุรกิจแพปลา แต่เมื่อแนวโน้มราคาน้ำมันเริ่มสูงจึงตัดสินใจขายเรือทิ้ง ก่อนจะหันมาทำธุรกิจในปัจจุบัน

ถามถึงโจทย์สำคัญของผู้ถือหุ้นใหญ่หลังบริษัทเข้าตลาดหุ้น? “เอ็มดีใหญ่” เล่าว่า หน้าที่ใหญ่ของผู้บริหาร คือ ต้องขยับส่วนแบ่งการตลาดทั้ง “ธุรกิจไบโอดีเซล” และ “ธุรกิจน้ำมันพืช” ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมาก ถือว่า “โจทย์หินมั้ยละ” เขาถามกลับ แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่บริษัทยังมี “ความโชคดี” เพราะเรามี 2 หลักธุรกิจ หากวันใดธุรกิจไหนไม่ดียังคงมีอีกธุรกิจคอยพยุง ไม่เหมือนบ้างบริษัทที่มีงานทำเพียงงานเดียว เมื่อธุรกิจมีปัญหาจะกระทบทั้งบริษัท

“ชายวัย 59 ปี” การันตีตัวเลขการเติบโตว่า ทุกปีรายได้ต้องขยายตัวปีละ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เรามั่นใจทำได้แน่นอน (พูดด้วยน้ำเสียงมั่นใจสุดๆ) ส่วนในปี 2557 รายได้จะเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” แน่นอน โดยจะพุ่งจากระดับ 4,200 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 5,500-6,000 ล้านบาท ผ่านมา 9 เดือนของปี 2556 เรามีรายได้รวมแล้ว 3,010.65 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 170 ล้านบาท

ส่วนในแง่ของ “กำไรขั้นต้น” และ “อัตรากำไรสุทธิ” ขอประเมินของสิ้นปี 2556 ก่อน คาดว่าจะยืนระดับ 7.3 เปอร์เซ็นต์ และ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรขั้นต้น 9.16 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตรากำไรสุทธิ 4.41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปี 2557 “อัตรากำไรสุทธิ” น่าจะขึ้นมายืนระดับ 7-8 เปอร์เซ็นต์

ปี 2557 บริษัทจะเน้นบริหารเรื่องต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญมีแผนจะเพิ่มรายได้ด้วยการขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซลเป็น 550,000 ลิตรต่อวัน ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 950,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท การผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้ไบโอดีเซลที่ภาครัฐมีนโยบายจะเปลี่ยนจากไบโอดีเซล B5 เป็นไบโอดีเซล B7 ในช่วงต้นปี 2557

การที่เราลงทุนเครื่องจักรใหม่ เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากกรดไขมันปาล์ม ทำให้สามารถลด ต้นทุนได้ประมาณ 3.75 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และการลงทุนปรับปรุง กระบวนการผลิตสามารถลดต้นทุนเอทานอลได้ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนวัตถุดิบ ฉะนั้นเชื่อว่าปี 2557อัตรากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นแน่นอน

ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการทำสัญญาขายน้ำมันไบโอดีเซลกับลูกค้ารายใหญ่หลายราย อาทิ บมจ.ปตท. หรือ PTT,บมจ.บางจากปิโตรเลียมหรือ BCP, บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC แต่ในปี 2557 ลูกค้ารายใหญ่ของเราจะเปลี่ยนจาก “ปตท.” มาเป็น “บางจากปิโตรเลียม”

เนื่องจากเขามีความต้องการขายน้ำมันไบโอดีเซลในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 2 ล้านลิตรต่อเดือน เป็น 3 ล้านลิตรต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายเดิม ขณะที่ในปี 2557 คาดว่าจะมีปริมาณการสั่งซื้อน้ำมันไบโอดีเซลรวมประมาณ 10-12 ล้านลิตรต่อเดือน

“เอ็มดีใหญ่” เล่าถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม”ตรา “พาโมลา” ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) อยากเห็นส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ วิธีการ คือ รุกการตลาดมากขึ้น ด้วยการนำสินค้าไปวางจำหน่ายในห้างร้านค้าปลีก เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงแบรนด์ของเรา วันนี้ต้องยอมรับว่า การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ไม่สามารถทำกำไรได้มากนัก ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีน 350,000 ลิตรต่อวัน

บริษัทวางแผนจะเพิ่มการจำหน่ายน้ำมันปาล์มโอเลอีนเป็น 5,000-6,000 ตันต่อเดือน จากปัจจุบันที่มียอดจำหน่ายประมาณ 3,000-4,000 ตันต่อเดือน โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากการขายน้ำมันไบโอดีเซล 70 เปอร์เซ็นต์ และจากการจำหน่ายน้ำมันปาล์มโอเลอีน “พาโมล่า” อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากกระบวนการหมุนเวียนวัตถุดิบ และการผลิตน้ำมันปาล์ม และการรับจ้างกลั่น น้ำมันปาล์ม

ถามถึง “ปัจจัยความเสี่ยง” เขายอมรับว่า ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง ธุรกิจน้ำมันไบโอดีเซล แม้จะมีทิศทางการเติบโตที่ดี จากการสนับสนุนของภาครัฐบาล แต่ยังมีความเสี่ยงหากพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่มากเกิน เรื่องนี้คงต้องรีบแก้จุดอ่อน แต่การที่เรามีบริษัทย่อย 2 แห่ง คอยสนับสนุนการเติบโต อย่างน้อยช่วยลบจุดตำนิตรงนี้ได้

บริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท เอไอ พอร์ตส์ แอนด์ เทอมินัลส์ จำกัด หรือ AIPT ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือและคลังน้ำมันเชื้อเพลิง 2 แห่ง ตั้งอยู่ในอำเภอ ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร นอกจากนั้นยังมีบริษัท เอไอ โลจิสติกส์ จำกัด หรือ AIL ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งทางทะเล ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยเรือขนส่งคุณภาพสูงให้บริการรวม 2 ลำ คือ เรือธารีรัตนา 1 และ เรือธารีรัตนา 3 โดย “เอไอ เอนเนอร์จี” ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99 เปอร์เซ็นต์ทั้ง AIPT และ AIL

“นายใหญ่” ทิ้งท้ายว่า จากการเดินสายนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนทั่วไป 15 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดระยอง ชลบุรี ราชบุรี นครปฐม เชียงใหม่ นครราชสีมาขอนแก่น อุดรธานี พิษณุโลก นครสวรรค์ อุบลราชธานี ภูเก็ต สงขลา สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักลงทุน เรียกว่า มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
หุ้น AIE เป็นบริษัทจดทะเบียนอีกแห่งที่มีคุณภาพ และมีปัจจัยพื้นฐานที่โดดเด่น เพราะบริษัทมี “จุดแข็ง” ในหลายๆ ด้าน ฉะนั้นขอยกให้เป็นทางเลือกที่ดีต่อนักลงทุน สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอ เราจะนำเงินมาซื้อเครื่องจักร เพื่อผลิตไบโอดีเซล และก่อสร้างถังเก็บน้ำมันความจุ 2 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 6 ถัง

Tags : อนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์

7 ปี กำไรหมื่นล้าน” วิชั่น “ผู้นำคนใหม่ IRPC”

“7 ปี กำไรหมื่นล้าน” วิชั่น “ผู้นำคนใหม่ IRPC”

กลยุทธ์ COPY ความสำเร็จบริษัทในเครือปตท.จะนำพา “ไออาร์พีซี” หลุดพ้น “ความขี้เหร่” “ตั้ว-สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” เอ็มดีคนใหม่ เชื่อเช่นนั้น

ผลการดำเนินงานที่ “ผันผวน” ตามทิศทางราคาน้ำมัน ยังคงคอยกดดันให้ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC บริษัทในเครือของปตท.ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 38.51 เปอร์เซ็นต์ (ตัวเลข ณ วันที่ 6 มี.ค.2556) ตกอยู่ในสภาพ “ขี้เหร่ที่สุด” ในครอบครัวปตท.

จากการตรวจสภาพการเงินย้อนหลัง ในช่วงปี 2553-2555 พบว่า บริษัทเคยโกย “กำไรสุทธิสูงสุด” ในปี 2553 จำนวน 6,182.69 ล้านบาท สมัย “ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” เป็นผู้นำ ก่อนจะลดเหลือ 4,106.77 ล้านบาท ในปี 2554 และขาดทุน 958.88 ล้านบาท ในปี 2555 ช่วง “ต้น-อธิคม เติบศิริ” นั่งบริหารงาน ล่าสุด 9 เดือนของปี 2556 บริษัทสามารถพลิกเป็น “กำไรสุทธิ” 41 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 746 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.04 บาท

ทว่าการปรับตัวลดลงของผลประกอบการในปี 2554-2555 “อธิคม” ได้นำเสนอกลยุทธ์ นำที่ดินเปล่ากว่า 15,000 ไร่ มาสร้างประโยชน์สูงสุด ถือเป็นการ “กำจัดจุดอ่อน” ทางหนึ่ง อาทิเช่น ที่ดินแถวอำเภอ บ้านค่าย จังหวัดสงขลา 2,500 ไร่ และอำเภอวังจันทร์ 3,000 ไร่ เป็นต้น

“อดีตผู้บริหารหมายเลข 1” เคยเล่า “จุดเด่น” ของ ไออาร์พีซี ให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า บริษัทแห่งนี้มีสินทรัพย์ “มหาศาล” แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที เปรียบเสมือน “คนอ้วนที่มีไขมันเยอะ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มกำลัง” เขายังเปรียบ “ไออาร์พีซี” เหมือน “ผู้หญิงตั้งครรรภ์” ที่มีลูกเล็กๆต้องคอยดูแล ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง

เกือบ 2 เดือนแล้วที่ “ไออาร์พีซี” ปรับเปลี่ยนตัว “ขุนพล” หลังหุ้นใหญ่ปฎิบัติการณ์สลับก้าอี้ ด้วยการยกตำแหน่ง “ผู้นำไออาร์พีซี” ให้ “บุรุษวัย 54 ปี” “ตั้ว-สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น” บมจ.ปตท.หรือ PTT ดีกรีปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมอบตำแหน่งของ “สุกฤตย์” ให้ “อธิคม” ลูกหม้อเครือปตท.กว่า 20 ปี

“ผมรับรู้มาตลอดว่า หลายคนเป็นห่วงไออาร์พีซี ด้ายความที่เราเป็นบริษัทเดียวในเครือปตท.ที่มีผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 “ขาดทุน” จำนวน 1,000 ล้านบาท แต่วันนี้ผมกำลังวางแผนเตรียมพลิกฟื้นกลับมามี

“กำไรสุทธิ” เหมือนเดิม อย่างน้อยสัญญาณดีเริ่มมาแล้ว หลังไตรมาส 3/2556 บริษัทมี “กำไรสุทธิ” 1,047 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนที่ผ่านมา ยังพลิกเป็นกำไรสุทธิ 41 ล้านบาท” “สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ “ไออาร์พีซี” พูดกลางงานเปิดวิสัยทัศน์ครั้งแรก

เขา เล่าว่า “หลายคนอาจไม่คุ้นหน้าผม แต่นั่งทำงานในเครือปตท.มานานกว่า 33 ปีแล้ว เริ่มงานครั้งแรกใน “บมจ.ไทยออยล์” หรือ TOP ทำนานถึง 20 กว่า ปี ก่อนจะย้ายมานั่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของปตท.ประมาณ 4 ปี

ถามว่า รู้สึกหนักใจหรือไม่ที่ต้องเข้ามาเป็นผู้นำองค์กรแห่งนี้? “เอ็มดีใหญ่” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ว่า ไม่หนักใจเลย (ยิ้ม) ตรงข้ามกลับรู้สึก “สนุก” ที่ผ่านมาเห็นการทำงานของบริษัทในเครือปตท.มาตลอด ทำให้มีประสบการณ์ในการทำงานค่อนข้างเยอะ “ผมเห็นโครงการดีๆของบริษัทในเครือมาเยอะ ฉะนั้นอะไรที่ดีเราจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจของไออาร์พีซี”

การนำโครงการดีๆมาปรับใช้กับองค์กรแห่งนี้ เปรียบเสมือน “เดินทางลัด” เพื่อดึงเอาศักยภาพของสินทรัพย์ และบุคลากรให้เกิดผลประโยชน์เร็วที่สุด ถือเป็นการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้เกิดขึ้นกับไออาร์พีซีเร็วที่สุด เขาย้ำ

“สุกฤตย์” เล่าถึงแผนงานระยะยาวในช่วง 7 ปีข้างหน้า (2557-2563) ว่า อยากนำพาองค์กรแห่งนี้ขึ้นยืนเคียงบริษัทอื่นๆในเครือปตท.ที่สำคัญจะต้องไม่น้อยหน้าใคร ทั้งในแง่ของ “รายได้และกำไร” เป้าหมายของเรา คือ ในปี 2563 ต้องมี “กำไรสทุธิ 10,000 ล้านบาท”

แม้เราจะเคลื่อนตัวช้ากว่าเพื่อนๆ แต่จะพยายามเร่งฝีเท้าให้ทันเพื่อน ที่ผ่านมาเรามีผู้บริหารหลายรุ่นเข้ามาสานต่องาน ผมเข้ามาเป็นรุ่นที่ 4 ภาระหน้าที่หลัก คือ สร้างความแข็งแกร่งจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้ดีที่สุด และต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ได้

วางกลยุทธ์พลิกฟื้นไออาร์พีซีอย่างไร? เขาตอบคำถามนี้ว่า ปัจจุบันโครงการฟีนิกซ์มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ โดยโครงการเพิ่มมูลค่าเพื่อผลิตภัณฑ์สะอาด หรือ UHV ที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของโครงการฟีนิกซ์ทั้งหมด ล่าสุดมีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว 48 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2558

เท่ากับว่า “ไออาร์พีซี” จะสามารถใช้กำลังการผลิตของหน่วยกลั่นได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเราจะสามารถผลิต Propylene เพิ่มขึ้น 320,000 ตันต่อปี รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีได้อีกจำนวนมาก นั่นแปลว่า บริษัทจะมี “กำไรขั้นต้น” หรือ GIM เพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 เหรียญต่อบาร์เรล

เราคงไม่นั่งรอให้โครงการเพิ่มมูลค่าเพื่อผลิตภัณฑ์สะอาดแล้วเสร็จในปี 2 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มกำไรขั้นต้นเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทจะพัฒนาศักยภาพองค์กร เพื่อมุ่งหน้าสู่ความเป็นเลิศ ด้วย 3 กลยุทธ์ ข้อแรก คือ “การปฏิบัติการเป็นเลิศ” หรือ Operational Excellence เราจะปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงการดำเนินงาน ด้านการผลิตทั้งระบบ

ข้อสอง “การค้าเป็นเลิศ” หรือ Commercial Excellence บริษัทจะเพิ่มมูลค่าการผลิต และสร้างรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเดิม รวมทั้งขยายเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ข้อสุดท้าย คือ “บุคลากรเป็นเลิศ” หรือ Human Resource Excellence เราจะพัฒนาระบบและประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงาน

กลยุทธ์เหล่านี้จะทำให้กำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1-1.5 เหรียญต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลา 18 เดือน เราเชื่อว่าว่า ภายในปี 2557 กำไรขั้นต้น (ไม่รวมสต็อก) อยู่ที่ 9.5 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบกับกำไรขั้นต้นในปี 2556 ที่อาจอยู่ระดับ 8 เหรียญต่อบาร์เรล (ไม่รวมสต๊อก) “กำไรขั้นต้น” อยู่ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ 105 เหรียญต่อบาร์เรล และต้นทุนการผลิตที่ 8 เหรียญต่อบาร์เรล

“นายคนใหม่” เล่าต่อว่า เรายังมีโครงการที่จะร่วมทุนกับ “บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล” หรือ PTTGC เพื่อทำโครงการต่อยอดธุรกิจ (post phoenix) จำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 65,000ล้านบาท เราจะกู้เงินจากสถาบันการเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะมาจากการร่วมทุน โดยจะมาจากไออาร์พีซีประมาณ 15,000 ล้านบาท คาดว่า โครงการต่อยอดธุรกิจจะแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งจะสามารถสร้างกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5 – 3 เหรียญต่อบาร์เรล

ในช่วงต้นปี 2557 บริษัทคงได้ข้อสรุป ในการร่วมทุน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตพาราไซลีน (PX; Para-xylene) กำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี โครงการโพลิโพรพิลีน คอมปาวด์ (PPC; Polypropylene Compound) กำลังการผลิต 1.5 แสนตันต่อปี โครงการโพลิออล (Polyol) กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และโครงการสไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer) กำลังการผลิต 3.5 แสนตันต่อปี

ส่วนโครงการอะคริลิกแอซิค (AA; Acrylic Acids) กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และโครงการซุปเปอร์แอฟซอฟท์แบนท์ โพลิเมอร์ (SAP; Super Absorbent Polymer) กำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปี เรากำลังจะหารือกับทาง PTTGC ถามว่า แต่ละโครงการควรมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return of Investment Capital :ROIC เท่าไร ตัวเลขที่ 14 เปอร์เซ็นต์ ดีที่สุด

ถามถึงแผนใช้เงินลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2557-2561) เราคงใช้เงินลงทุนประมาณ 110,000ล้านบาท โดยเงินลงทุนของบริษัทจะมาจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ที่มีอยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท เราจะกู้เงินแบงก์หรือออกหุ้นกู้ ส่วนเรื่องหนี้สินที่จะต้องคืนในช่วง 5 ปีข้างหน้า จำนวน 45,000 ล้านบาท ในปี 2557 เราจะมีหนี้ครบกำหนดชำระ 16,000 ล้านบาท ตอนนี้ได้เจรจากับธนาคารในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว

“เอ็มดีใหญ่” โยนเรื่องการเงินให้ “ดวงกมล เศรษฐธนัง” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน “ไออาร์พีซี” พูดต่อว่า ในช่วงไตรมาส 4/2556 บริษัทอาจมีกำไรพิเศษประมาณ 600-700 ล้านบาท จากการขายที่ดินมากกว่า 150 ไร่ ให้กับโรงไฟฟ้าไออาร์พีซีกรีน ซึ่งเป็นบริษัทย่อย

สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,350 ไร่ คาดว่าจะเปิดขายได้ในช่วงต้นปี 2557 คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2556 จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ.

“สุกฤตย์” พูดถึงราคาหุ้น IRPC ว่า วันนี้ยังต่ำกว่าพื้นฐาน คุณลองดูหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มปิโตรเคมีและ การกลั่นสิ ราคาหุ้นเขาสูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นเกือบทุกตัว วันนี้นักลงทุนคงกำลังรอให้ “ไออาร์พีซี” พัฒนาศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้เสียก่อนจึงค่อยเข้ามาลงทุน เมื่อถึงวันนั้น ราคาหุ้นคงดีดขึ้นเอง ตอนนี้ราคาหุ้นไม่ไปไหน เพราะเรามีกำไรน้อยมาก เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ เป็นแบบนี้ราคาหุ้นจะขึ้นได้อย่างไร เขา เผลอระบายความในใจ

5 ปี 5 พันลบ.ฝันไกล “บลิส-เทล”

5 ปี 5 พันลบ.ฝันไกล “บลิส-เทล”

หุ้นการลงทุนValue Investment
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เพิ่งพลิกมี “กำไร” 22.15 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 แต่ “กันต์-จักรกฤษณ์ ธนวิรุฬห์” ขอ5 ปี ต้องติด 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียน

“ขาดทุน 2 ปีซ้อน” ปี 2554 ติดลบ 64.29 ล้านบาท ปี 2555 ขาดทุน 50.40 ล้านบาท ส่งผลให้ หุ้น บลิส-เทล” หรือ BLISS ต้องหยุดทำการซื้อขายตั้งแต่เดือนพ.ค.2554 ราคาสุดท้ายเฉลี่ย 0.04 บาท “บลิส-เทล” เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.25547 ด้วยการขายหุ้น IPO 6.20 บาท พาร์ 1 บาท ปัจจุบันแตกพาร์เหลือ 0.10 บาท

ผ่านมา 9 เดือน บริษัทพลิกมี “กำไรสุทธิ” 22.15 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี2555 ที่มีผลขาดทุน 48.97 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะออกมาน้อยนิด แต่ “กันต์-จักรกฤษณ์ ธนวิรุฬห์” ผู้ควบเก้าอี้บริหารงาน “บลิส-เทล” มากถึง 3 ตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร-รองประธานกรรมการ-กรรมการผู้จัดการ” เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 มั่นใจในตัวเองเหลือเกินว่า “ภายในปี 2557 บริษัทจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เหมือนเดิม” นั่นแปลว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/2556 ต้องเป็น “บวก” หลังไตรมาส 2/2556 มี “กำไรสุทธิ” แล้ว 6.83 ล้านบาท และไตรมาส 3/2556 มีกำไรสุทธิ 19.94 ล้านบาท

หลังบริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจ จากผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือมาเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ “ผู้บริหารป้ายแดง” มั่นอกมั่นใจว่า “ผมเชื่อว่า การที่มีทีมบริหารเก่ง โครงการสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง จะนำพาองค์กรมุ่งหน้าสู่อนาคตที่มีแต่คุณภาพ”

ก่อน “บลิส-เทล” จะถือหุ้นใหญ่โดย “สุทธิกฤษฎิ์ ถนอมบูรณ์เจริญ” สัดส่วน 1,755.44 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.34 เปอร์เซ็นต์ และ “นิวัติ ลมุนพันธ์” 1,562.39 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.22 เปอร์เซ็นต์ ครั้งหนึ่งบริษัทแห่งนี้เคยตกอยู่ภายใต้การดูแลของบุคคลหลากหลายกลุ่ม อาทิเช่น บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC

“ฉัตรสุดา เบ็ญจนิรัตน์” หญิงนางหนึ่งที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “นอมินี” ของ “สอง วัชรศรีโรจน์” ชายผู้โด่งดัง หลังถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในข้อหาร่วมกันปั่นหุ้น ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ หรือ บีบีซี เมื่อปี 2535 ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง “ประกายดาว เขมะจันตรี” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “บลิส-เทล” และกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น เป็นต้น

“กันต์-จักรกฤษณ์” บุรุษวัย 49 ปี ดีกรีปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตร MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทคณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยผ่านการทำงานในองค์ใหญ่ๆอย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF นานถึง 8 ปี

ก่อนจะโยกมาทำงานด้านการเงิน ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัทชื่อดังหลายแห่ง ปัจจุบันนอกจากนั่งทำงานใน “บลิส-เทล” แล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“บลิส-เทล” กำลังจะดีกว่าอดีตจริงหรือ? ไม่แปลกหากนักลงทุนรายย่อยที่เคยยืนชมวิวบนยอดดอย นามว่า BLISS จะตั้งคำถามเช่นนี้ วันนี้เราปรับทีมงานบริหารใหม่ยกชุด แต่ละคนไม่ธรรมดา ยกตัวอย่าง “ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล” ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภาผู้แทนราษฎร เราเชิญท่านมานั่งเป็นประธานกรรมการ

“สุรพล โอภาสเสถียร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร บริษัทเชิญมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ เห็นชื่อแต่ละท่าน คงการันตีได้แล้วว่า บริษัทมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ การมี “คุณสุรพล” เข้ามาช่วยงาน ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก (ยิ้ม)

ถามถึงโครงสร้างธุรกิจใหม่ “ผู้บริหารคนใหม่” อธิบายว่า บริษัทจะทำงานบน 3 ธุรกิจ นั่นคือ 1.ธุรกิจติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคม และบริการติดตั้งระบบเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ให้กับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE นอกจากนั้นยังมีธุรกิจไอที สุดท้าย คือ ธุรกิจซอฟต์แวร์และดิจิตอล มีเดีย

บริษัทจะเน้นกลยุทธ์ 4 ด้าน ในการทำงาน เพื่อนำพาองค์กรมุ่งหน้าสู่ความฝัน ประการที่หนึ่ง บริษัทจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและคุณภาพตรงตามต้องการของคู่ค้า ปัจจุบันเราพยายามสรรหาและใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ทำงานอย่างเต็มที่ ประการที่สอง เราจะพัฒนาคุณภาพของทีมงาน โดยจะพยายามคัดกรองคนที่มีประสิทธิภาพ เน้นดูความสามารถที่ผ่านมาในองค์กรอื่นๆเป็นหลัก

ประการที่สาม บริษัทจะสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ผ่านมาเราทำงานหนักมากเพื่อที่จะแนะนำตัวเองให้เป็นที่รู้จักต่อบริษัทหรือหน่วยงานที่เป็นคู่ค้าของเรา “เหนื่อยแต่คุ้ม” เห็นได้จากผลตอบรับที่ออกมาดีมากๆ

ประการสุดท้าย คือ เราจะพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้เข้ามาพลิกฟื้นองค์กรแห่งนี้ เรียกว่า ทำงานหนักมาก เขาย้ำ เราปรับเปลี่ยนองค์กรเกือบทุกอย่าง ทำให้รู้ถึงกระบวนการทำงานในแต่ละ หน่วยงาน

“เมื่อบริษัทเดินมาพร้อม “ความหวัง-กลยุทธ์-พันธกิจ” เราจึงสามารถตั้งเป้าหมายได้ว่า องค์กรของเราควรยืน ณ จุดไหน จึงจะเรียกว่า ดีที่สุด”

เขา เล่าต่อว่า “เรื่องแรกที่มือบริหารอย่างผมอยากเห็น” คือ “รายได้รวม” เรื่องนี้ยอมรับตรงๆสำคัญมาก องค์กรจะมั่นคงและยั่งยืนได้ต้องมาจากส่วนนี้ วันนี้เรามียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog มูลค่าประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2556 จะทยอยรับรู้รายได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หากเป็นเช่นนั้น สิ้นปี 2556 ฐานะการเงินของเราจะพลิกเป็น “กำไรสุทธิ” ทันที

“ผมจะพยายามผลักดันผลประกอบการให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า คงขยายตัวปีละ 1 เท่าตัว อย่างปี 2556 คงมีรายได้ 1,000 ล้านบาท ปี 2557 น่าจะประมาณ 2,000 ล้านบาท ปีหน้าเรามี Backlog แล้วประมาณ 700 ล้านบาท”

อะไรทำให้คิดว่า จะโกยตัวเลขนี้มาครอบครอง เขาบอกว่า ตลาดของธุรกิจไอซีทีและเทเลคอมยังมีมูลค่า “มหาศาล” งานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบการอย่าง AIS-DTAC-TOT-CAT-TRUE ถือเป็นบริษัทที่มีเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เขาพร้อมลงทุนระบบ 3G และระบบ 4 G นั่นเท่ากับว่า เราจะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องอีกมากมาย

ข้ามไปดูงานฝั่งรัฐบาล ปีหน้าเขาจะเปิดประมูลแท็บเล็ต มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ ที่ผ่านมาเราได้จับมือกับบมจ.จัสมินเทเลคอม ซิสเต็มส์ หรือ JTS เข้าประมูลแท็บเล็ต ภายใต้แบรนด์ “DMA” ผลปรากฎว่า “ชนะการประมูล” งานหน้าคงต้องหาผู้ผลิตที่ดี เพื่อที่จะได้ส่งมอบงานได้ดีขึ้น

เราคุยกันภายในว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2556-2560) ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หากทำได้เช่นนั้น เราจะติด 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำรายได้สูงสุด “กันต์-จักรกฤษณ์” เล่าความฝันแสนไกลให้ฟัง เราอยากเห็นบริษัทเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” เราจะไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยี ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คู่แข่งตามเราไม่ทัน เขาไม่ลืมที่จะอวด..

“มือบริหาร” คุยเรียกเรตติ้งให้หุ้น BLISS ว่า เราเป็นบริษัทมหาชน ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นที่ร่วมชะตากรรมเดียวกับเรากว่า 4,200 คน คิดเป็น 19,000 กว่าล้านหุ้น ฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ ทำให้คนเหล่านั้น “มีความสุข” บริษัทจะพยายามคืนผลตอบแทนสู่นักลงทุนให้เร็วที่สุด เป้าหมายแรก คือ “การล้างขาดทุนสะสม” 208 ล้านบาท ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิ.ย.2556 ให้หมดภายในปี 2558 (บริษัทหยุดจ่ายเงินปันผลมา 3 ปีแล้ว)

“เราจะพยายามทำทุกอย่างเกินความคาดหมาย ทั้งเรื่องเงินปันผล และส่วนต่างราคาหุ้น งานต่างประเทศเราเล็งไว้เหมือนกัน ตอนนี้มีประเทศเวียดนามและกัมพูชา ติดต่อให้เราไปวางระบบเทเลคอม กำลังดูๆอยู่ จริงๆในช่วง 1-2 ปีนี้ อยากเน้นทำงานในประเทศก่อน”

JAS กลยุทธ์แปลงวิกฤตเป็นโอกาส

JAS กลยุทธ์แปลงวิกฤตเป็นโอกาส

รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556

หุ้นของบริษัท บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นยอดนิยมสำหรับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากในตลาดหุ้น (โดยเฉพาะตกเป็นเครื่องมือของบรรดานักเล่นหุ้นที่เรียกว่า “ขาชอร์ต” กันอย่างต่อเนื่อง) ทำให้ราคาหุ้นในระยะหลัง มีแนวโน้มซึมเซา มีการเปลี่ยนแปลงราคาค่อนข้างน้อย แม้วอลุ่มซื้อขายจะยังโดดเด่นอยู่
สถานการณ์ล่าสุดในปลายเดือนกันยายน มีผลทำให้หุ้นJAS กลับมาคึกคักกันระลอกใหม่ชนิดที่หยุดยั้งได้ยากลำบาก เกิดจาดจากวิกฤตที่เกิดขึ้นชั่วคราว หลังจากที่ ทางเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯเกิดประเด็นตั้งคำถาม 5 ข้อที่ส่งผลให้ราคาหุ้น JAS และบริษัทในเครือคือ JTS ต้องร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงแรกหลังจากเกิดคำถาม 5 ข้อดังกล่าว
คำถาม 5 ข้อ เกิดขึ้นจากการที่ JAS เปิดประเด็นไว้ว่าจะยื่นเรื่องต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ กองทุนอินฟราฯ มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ในเชิงลบ โดยอ้างเหตุผลว่า คำอธิบายในการตั้งกองทุนของ JAS ไม่ชัดเจนเพียงพอ
ทันทีที่ถูกตั้งคำถามขึ้นมา ผู้บริหารของ JAS ก็ทำการตอบหนังสือชี้แจงอย่างทันท่วงที โดยให้คำตอบทั้ง 5 ข้อ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความชัดเจนพอสมควร สำหรับนักลงทุนที่เข้าใจธุรกิจของบริษัทที่ทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างจริงจังและกำลังเป็นธุรกิจขาขึ้น
5 คำถามตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 5 คำตอบของ JAS ในการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
คำถาม
คำตอบ
สินทรัพย์ที่จะลงทุนเพิ่มในอีก 3 ปีข้างหน้าคืออะไร และสาเหตุที่ต้องลงทุนเพิ่มเพราะอะไร
สินทรัพย์ที่จะลงทุนเพิ่ม คือ โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต เพื่อให้มีจำนวนลูกค้าผู้ใช้บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เงื่อนไขการชำระค่าเช่าอยากให้ระบุว่าเป็นรายเดือนหรือรายปี
เงื่อนไขการชำระค่าเช่าขึ้นอยู่กับข้อตกลงสุดท้ายระหว่างบริษัท และกองทุน
การกำหนดค่าเช่า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 29,400 ล้านบาท กำหนดจากอะไรการกำหนดค่าเช่า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 29,400 ล้านบาท กำหนดจากอะไร
ค่าเช่ากำหนดจากผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน และตัวเลขดังกล่าว บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
ขอให้ขยายความคำว่า FTTX
คำว่า FTTX หมายถึง โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ให้ความเร็วสูงมาก และให้ความเร็ว 1,000 Mbpsโดยใช้สาย Optical Fiber ไปถึงลูกค้าทุกราย
แผนการใช้เงินที่ได้จากกองทุนคืออะไร
บริษัทมีเป้าหมายใช้เงินเพื่อจะขยายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทั้งระบบ ADSL และระบบ FTTX ให้เกิดจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่ม Speed ของ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว และบริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นของ JAS

คำตอบดังกล่าว เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทที่เฉพาะเจาะจงว่า ต้องการรุกทางธุรกิจให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในขณะที่คู่แข่งขันที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน อย่าง ทีโอที ทรู และซีทีเอช ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ
JAS เป็นบริษัททางด้านโทรคมนาคมบริษัทเดียวที่มีธุรกิจหลักคือ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ไร้สาย โดยมีการเปิดเกมรุกธุรกิจต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์เนม 3BB ซึ่งใช้กลยุทธ์พันธมิตรธุรกิจ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มจากอันดับ 3 ในธุรกิจ มาเป็นธุรกิจที่ใกล้เคียงกับเจ้าตลาดหลักเดิมคือ ทีโอที และ TRUE มีผลทำให้ราคาหุ้นของ JAS มีความโดดเด่นอย่างมาก เพราะมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สัดส่วนทางการเงินที่สะท้อนให้เห็นการใช้ทรัพยากรของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วน ROA และ ROE ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ล้างขาดทุนสะสมได้หมดแล้ว ทำให้ล่าสุด ค่า ROA มากถึง 15.03% และ ROE มากถึง 25.28% ซึ่งถือว่าดีกว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน
(ดูผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี)
ในปีนี้ JAS ได้เปิดเกมรุกในธุรกิจด้วยการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงความเร็ว 1Gbps ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber To The Home) ที่มีความเร็วเพิ่มจากเดิม 100 เท่า เพื่อสนองตอบเครือข่ายสื่อสารของภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะเปิดช่องให้โอกาสในการทำกำไรก้าวกระโดดในอนาคต โดยที่นักวิเคราะห์พากันปรับการคาดการณ์ใหม่ บางรายถึงขั้นที่ว่าการลงทุนในอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์จะดันกำไร 3 ปีจากนี้ไปโตปีละ 29% โดยผู้บริหารของ JAS ประเมินว่า สมาชิกบรอดแบนด์ในปีนี้ จะอยู่ที่ 1.5 ล้านราย และในปี 2557 จะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านราย และในปี 2558 เป็น 1.9 ล้านราย
อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คือคำตอบที่จะทำให้ JAS แซงหน้าคู่แข่งหลัก คือ TOT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาโดยตลอด ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ไม่นับรายย่อยอีกนับสิบรายซึ่งไม่อยู่ในฐานะจะแข่งขันได้
เหตุผลสำคัญคือ เทคโนโลยี LTE ที่จะมาพร้อมกับพัฒนาการในอัตราเร่งของเครือข่ายโทรคมนาคม 3G กำลังเร่งเคลื่อนเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ในทางธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งเคลื่อนตัวผสมผสานเข้ากับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็น LTE หรือเครือข่ายก่อน 4G เป็นการช่วงชิงโอกาสที่มีความหมายลึกซึ้งในทางธุรกิจอย่างมาก
แกนหลักสำคัญของพัฒนาของ LTE อยู่ที่ การส่งข้อมูลทั้งเสียง ข้อความ และรูปภาพในอัตราเร็ว ความหน่วงของเวลา(หมายถึงเวลาที่ใช้ไปในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยความจำ) และจำนวนความจุของข้อมูล ในกระบวนการสื่อสารผ่านเครือข่าย ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างการนำส่งข้อมูลต้นทาง (uplink) ที่ต่ำกว่าการส่งข้อมูลไปยังผู้รับปลายทาง (downlink) ที่เสถียร
การตัดสินใจลงทุนยกระดับอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ของ JAS จาก 1Mbps เป็น 1Gbps จึงเป็นการเปิดเกมรุกเพราะวิสัยทัศน์ที่ต้องการเร่งตัวเองขึ้นมาให้ทันกับยุค LTE เคียงข้างกับ 3G นั่นเอง แต่อย่างที่ทราบกันดี ว่าการติดตั้งเพื่อรองรับความต้องการที่มีมหาศาลให้ทันกับการขยายตัวของเครือข่าย 3G นั้น ต้องการเงินลงทุนมหาศาล ซึ่ง JAS ในฐานะบริษัทขนาดกลาง ไม่สามารถทำได้ทันท่วงที
คำถามของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ถูกนักวิเคราะห์บางสำนัก นำไปขยายความในเชิงลบอย่างไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง โดยสื่อบางสำนักระบุถึงขั้นที่ว่า การตอบคำถามไม่ชัดเจน และมีโอกาสที่การตั้งกองทุน จะนำไปสู่ปมประเด็นใหญ่กว่าที่ตามมาคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารอาจจะขายหุ้นทิ้ง แล้วหอบเงินหนีไปปล่อยให้ซากบริษัทคาตลาด ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความมั่นใจและภาพลักษณ์ของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างมาก
บางรายใช้จินตนาการเกินเลยไปถึงขั้นว่า หากพิจารณารายละเอียดของการขยายส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจบรอดแบนด์ ใช้เงินลงทุนระดับ 1 หมื่นล้านบาท น่าจะเพียงพอ และไม่น่าจะต้องใช้เงินมากขนาด 7 หมื่นล้านบาท
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารของ JAS1 อย่างนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีปฏิกิริยาตามมาถึงกับต้องเรียกประชุมด่วนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ของโบรกเกอร์หลายแห่งอย่างฉุกเฉิน เพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดของการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
รายละเอียดที่เปิดเผยออกมาระบุว่า กองทุนดังกล่าว คาดว่าจะให้ผลตอบแทนปีแรกที่ 6 % หรือ 4.2 พันล้านบาท จากอัตราค่าเช่ารายปีขั้นต่ำ และจะมีส่วนเพิ่มขึ้นให้อีกในอนาคต ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของ JAS ในอนาคต จากการอนุมัติของที่ประชุม JAS จะเข้าไปถือสัดส่วน 1 ใน 3 ในกองทุนดังกล่าว โดยที่มีความต้องการส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าใจธุรกิจของบริษัทดี
หลังจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ จะทำให้เกิดกำไรพิเศษขึ้นกับ JAS ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทหลังถูกหักภาษี โดยJAS จะบันทึกกำไรพิเศษนี้บางส่วนหลังกระบวนการ จากการที่มาตรฐานทางบัญชีอนุญาตให้กระทำ โดยส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เป็นระยะเวลา 7 ปี หรือ 20 ปี
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้ในการขยายโครงข่าย FTTX และอาจมีการจ่ายปันผลพิเศษ หรือการซื้อหุ้นคืน
กระบวนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเสร็จ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายใหม่ที่ 4.2 พันล้านบาท ซึ่งจะต้องบันทึกทุกปี ค่าใช้จ่ายนี้จะเกิดจากค่าเช่าที่จ่ายให้แก่กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะถูกชดเชยด้วยการลดลงของค่าเสื่อม 1.7 พันล้านบาทต่อปี
นักวิเคราะห์จาก บล.ธนชาต ระบุว่า แผนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานนี้ไม่ใช่แผนออกจากธุรกิจของผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทำให้สามารถจ่ายปันผลพิเศษ มีเงินสดสำหรับลงทุนใหม่ ขณะที่กำไรน่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเป็นอย่างน้อย คงคำแนะนำ “ซื้อ” JAS และปรับมาใช้ราคาเป้าหมายปี 2557 ที่ราคา 11.80 บาทต่อหุ้น
ผลของการเรียกประชุมนักวิเคราะห์ดังกล่าว ถือเป็นการแปลงวิกฤตเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้มุมมองของราคาหุ้น JAS และบริษัทในเครือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นบวกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ราคาหุ้นกลับมาวิ่งฉิวระลอกใหม่อีกครั้ง ในช่วงหลายวันมานี้
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารของบริษัทย่อยของ JAS ก็ออกมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมของธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงว่า ขณะนี้บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ในเครือ JAS มีจำนวนสมาชิกบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต (ADSL) อยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านราย แบ่งเป็นสมาชิกในต่างจังหวัดประมาณกว่า 1 ล้านราย และสมาชิกในกรุงเทพฯประมาณกว่า 3 แสนราย โดยสิ้นปี 2556 บริษัทตั้งเป้าหมายมีจำนวนสมาชิกบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตมากกว่า 1.4 ล้านราย โดยที่ลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นรายต่อเดือน ซึ่งพื้นที่ที่เติบโตมาก คือต่างจังหวัด ขณะที่ในกรุงเทพฯเติบโตน้อยมีสมาชิกเพียง 3 แสนรายเศษ แต่บริษัทก็พร้อมที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะที่ในปัจจุบันมีลูกค้า Fiber Optic FTTX ที่รอติดตั้งประมาณ 10,000 ราย และที่บริษัทติดตั้งแล้วประมาณ 6-7 พันราย ส่วนในปี 2557 บริษัทเตรียมทำตลาด Fiber Optic FTTX อย่างเต็มตัว รองรับการเติบโตในอนาคต
ปฏิกิริยาที่ค่อนข้างรวดเร็ว และทำให้มุมมองของราคาหุ้นแปรจากลบมาเป็นบวกในเวลาที่รวดเร็ว ทำให้เห็นถึงความฉับไวต่อข้อมูลข่าวสารในตลาดหุ้นของผู้บริหาร JAS ที่วางใจได้สำหรับบรรดานักลงทุน ที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ชะตากรรมตกอยู่ภายใต้ข่าวลือหรือข้อสงสัยที่กำกวมจนส่งผลเสียต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้น หรือตามมาด้วยวิกฤตศรัทธาที่มีต่อบริษัทในระยะต่อไปได้ชัดเจน
ถือเป็นการแปลงวิกฤตเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งสำหรับ JAS

BMCL เพิ่มทุนต่ออายุธุรกิจ

InfoQuest News – BMCL เพิ่มทุนต่ออายุธุรกิจ
9 ตุลาคม 2556

ในที่สุด หลังจากปล่อยให้อึมครึมกันมาหลายเดือน ท่ามกลางมรสุมทางการเงินที่ทำให้คนตั้งคำถามว่า ผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCLจะทำอย่างไรกับตัวเลขส่วนของผู้ถือหุ้นที่เหลือน้อยเพียง 531.46 ล้านบาทเมื่อสิ้นไตรมาสที่สองของปี 2556 ซึ่งอาจจะติดลบได้ หากว่าตัวเลขการขาดทุนของบริษัทยังไม่กระเตื้องขึ้นมาในทุกๆ ไตรมาสข้างหน้า แล้วในที่สุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา BMCL ก็ได้แจ้งมติของคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จากเดิม 11,950,000,000 บาท เป็น 20,500,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 8,550,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รายละเอียดของการเพิ่มทุน ประกอบด้วยรายละเอียดดังตารางประกอบ การเพิ่มทุนดังกล่าว ถือเป็นการยิงกระสุนปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัวอย่างแท้จริง เพราะด้านหนึ่งทำให้โล่งอกไปถ้วนหน้า ว่า ทุนที่เพิ่มเข้ามานี้ จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเหนือระดับมากกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลงไปฮวบฮาบเหลือเพียงแค่ 1.8 เท่า เท่านั้นเองเลยทีเดียว ส่วนของผู้ถือหุ้น และเงินสดที่เพิ่มขึ้นมานี้ แม้ว่าจะไม่ได้ส่วนเกินมูลค่าหุ้นแต่อย่างใดเพราะขายในราคาพาร์ 1 บาท แต่ก็ถือว่า เป็นการเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาในบริษัท อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่ไม่รัดตัวเหมือนที่ผ่านมา จนต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากบริษัทแม่คือ ช.การช่างมาสนับสนุนสภาพคล่อง แล้วยังมีต้นทุนการเงินจากหนี้เงินกู้ธนาคารที่สูงมานานหลายปี จนกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของกิจการเรื้อรัง แม้ว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงบางส่วนทั้งหมดในรอบนี้ จะทำให้บริษัทไม่ได้รับเงินสดเข้ามา เพราะเป็นการขายให้กับเจ้าหนี้ คือ บริษัท ช.การช่าง ที่ให้เงินกู้สนับสนุน หรือ สปอนเซอร์ โลน มานานหลายปี 4,200 ล้านหุ้น และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 4 ราย รวม 2,350 ล้านหุ้น (ดังตารางประกอบ) เพื่อชำระคืนดอกเบี้ยค้างจ่ายของหนี้เงินกู้ยืม และชำระค่าธรรมเนียมการปรับกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ (rescheduling fee) ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็เป็นการแปลงหนี้เป็นทุนนั่นเอง แต่ข้อดีก็คือ ทำให้ตัวเลขทางบัญชีว่าด้วยส่วนผู้ถือหุ้นสวยงามมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการสงวนเงินสดที่จะต้องจ่ายออกจากบริษัทให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด เงินสดที่จะเข้ามาใน BMCL ที่แท้จริง จึงจะมาจากหุ้น 2,000 ล้านหุ้น ที่จะขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในราคา 1 บาทที่จะทำให้ได้เงินเข้ามา 2,000 ล้านบาทเท่านั้น การมีเงินสดมากขึ้น จะทำให้สามารถใช้หนี้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินได้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปบริหารสภาพคล่องของบริษัท ผสมกับการนำไปลงทุนใหม่ในสัมปทานเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วงในอนาคตซึ่งมีกำหนดการจะเดินรถได้ภายในปี 2559 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ข่าวดีของการเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องและแก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นร่อยหรอลงจนมีความเสี่ยงสูง ถือว่าเป็นข่าวดีต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบตามข้อเสนอให้บริษัทได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วงลงอีก เฉพาะค่าจัดหาระบบและตัวรถ ส่งผลยอดวงเงินปรับลดลงมาเหลือสุทธิ 8.26 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาที่ BMCL จะได้รับคือ 40 เดือนข้างหน้า สิทธิสัมปทานในการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ระยะทาง 23 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายที่จะสามารถเชื่อมเข้าและดึงคนมาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินให้เพิ่มมากขึ้น 10-15% จะช่วยให้ BMCL มีรายได้ในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะจากรายได้เชิงพาณิชย์ จากจำนวนเฉลี่ยประมาณ 240,000 คน ที่จะเข้ามาใช้บริการในวันทำการ จะทำให้สัดส่วนรายได้ค่าโดยสารใน 3 ปีข้างหน้าเป็น 20% และรายได้เชิงพาณิชย์จะเพิ่มเป็น 80% รวมถึงเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โอกาสอันดีของสัมปทานใหม่ที่จะทำให้มีรายได้ในอนาคตนี้เอง ทำให้ผู้ถือหุ้นสำคัญของบริษัทคือ กลุ่มช.การช่าง และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ยินยอมรับข้อเสนอเจรจาเพิ่มทุน ด้วยการเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน และแปลงหนี้เป็นทุนในสัดส่วนที่กล่าวมาแล้ว เพราะมองเห็นประโยชน์อันยาวไกลที่รออยู่ กุญแจสำคัญที่ส่งผลดีชัดเจนอีกอย่างหนึ่งจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ อยู่ที่เป็นการขายที่มีโอกาสจะทำให้เกิดไดลูชั่นของราคาหุ้นต่ำ เพราะหุ้นที่บริษัท ช.การช่างซื้อเอาไว้ 4,200 ล้านหุ้น จะไม่ถูกขายออกมาอย่างแน่นอน เพราะต้องการรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้นเอาไว้ ในขณะที่จำนวนหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมก็มีไม่มาก ความเสี่ยงจะมีอย่างเดียวเท่านั้น ในกรณีของหุ้นที่แปลงหนี้เป็นทุนให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินในราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งปัจจุบัน ล่าสุดราคาหุ้นของ BMCL อยู่ที่ระดับ 1.10 บาทโดยประมาณ ซึ่งหากขายออกมา จะทำให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ได้กำไรประมาณ 10% ในทันที ซึ่งจุดนี้ ถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ปมประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ สัดส่วนของการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ช.กาช่างจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่าเดิมที่เคยถืออยู่ก่อนการเพิ่มทุน (ไม่รวมบริษัทในเครืออีกหลายราย) 16.64% จะกลายเป็นสัดส่วนมากถึง 30.19% ภายหลังการเพิ่มทุน ในขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ไม่ได้เพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือแค่ 14.57% แต่ถ้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน จะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 17.10% ในกรณีที่ไม่ได้ขายหุ้นออกไป ก็ไม่ควรถือว่ารัฐเสียประโยชน์ เพราะ BMCL จะยังขาดทุนต่อไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปีข้างหน้า ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ นั้น สัดส่วนการถือครองหุ้นหลังการเพิ่มทุนก็คงจะเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ซึ่งไม่มีรายละเอียดจนกว่าการเพิ่มทุนจะจบสิ้นลง ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ การเพิ่มทุนรอบนี้ แม้จะทำให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มมามากขึ้นประมาณ 71.55% แต่ได้รับเงินสดเข้ามาจริงเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ก็จะยังคงทำให้กระแสเงินสดของ BMCL กระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก เพราะหากดูจากงบการเงินของบริษัท จะพบว่า หนี้ระยะสั้นของบริษัทมีค่อนข้างต่ำ เพียงแต่มีต้นทุนหนี้เงินกู้ที่หมักหมมยาวนานหลายปี ซึ่งจะต้องถูกบันทึกเป็นดอกเบี้ยจ่ายไตรมาสละประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งการปลดภาระหนี้ไปได้บางส่วน ก็จะช่วยให้บริษัทซึ่งในระยะหลังมี EBITDA เป็นบวกหลายไตรมาสติดต่อกัน สามารถมีโอกาสบันทึกงบเป็นกำไรได้ในบางไตรมาสง่ายดายมากขึ้น เพียงแต่สำหรับผู้ถือหุ้น การเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาของบริษัทโดยเฉพาะให้พ้นจากการมี สภาพคล่องขั้นเลวร้าย หนี้ระยะสั้นต่ำ แต่หนี้สินระยะยาวสูง ต้นทุนการเงินสูงลิ่ว และสินทรัพย์มีสภาพคล่องต่ำ แม้สัมปทานยังมีค่าสูง แต่มีผลให้ปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้นมากมายเช่นนี้ โอกาสที่จะได้เห็นกำไรต่อหุ้น หรือเงินปันผลเป็นกอบเป็นกำในอนาคต ก็คงจะยากขึ้นเป็นทวีคูณไปด้วย เพราะตัวหารของหุ้นมีจำนวนมากขึ้นทำให้ EPS ไหลรูดลงไปโดยปริยาย การเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นที่ร่อยหรอลงไปของ BMCL รอบนี้ จึงเป็นกรณีศึกษาที่นักลงทุนที่ต้องการถือหุ้นที่ยังขาดทุนเพื่อหวังเทิร์นอะราวด์ ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ ตัวเลขทางการเงินสำคัญของ BMCL สิ้นงวดไตรมาส 2 ปี 2556 รวมสินทรัพย์หมุนเวียน INCLUDEPICTURE “http://www.set.or.th/images/spacer.gif” \* MERGEFORMATINET 259.77 ล้านบาทรวมหนี้สินหมุนเวียน682.22 ล้านบาทCurrent ratio0.38 เท่าหนี้สินรวม17,715.84 ล้านบาทส่วนของผู้ถือหุ้น531.46 ล้านบาทD/E(ไม่รวม sponsor loanจากCK)33.33 เท่ากำไร(ขาดทุน)ก่อนต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้151.08 ล้านบาทต้นทุนทางการเงิน 589.48 ล้านบาท

112 บจ.รับอานิสงส์ Thailand Focus 2013

InfoQuest News – รายงานพิเศษ : 112 บจ.รับอานิสงส์ Thailand Focus 2013
11 ตุลาคม 2556

การประกาศทยอยถอน QE ของสหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่มี ประเทศไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ การถอนเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน, กรกฎาคม และสิงหาคม ปี 2556 ที่ผ่านมา ยอดการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติมีมากเกือบ 1 แสนล้านบาท ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดที่ 1,640 จุด ไหลลงตามแรงเทขายของต่างชาติ แต่ทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯประกาศจัดงาน Thailand Focus 2013 ระดมบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวน 112 บริษัทเข้าร่วมให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างชาติ แรงเทขายของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เริ่มชะลอตัวทันทีที่งานไทยแลนด์ โฟกัส เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา หากนับแรงขายที่ลดน้อยลง จนพลิกกลับมาซื้อสุทธิในช่วงเดือนกันยายน 2556 เป็นต้นมา โดยจะเห็นยอดการซื้อสุทธิอยู่ที่ 4,983 ล้านบาท แม้จะเป็นเม็ดเงินจำนวนที่ไม่มาก แต่การพลิกฟื้นจากการขายหนัก เป็นกลับมาซื้อ อาจจะเรียกได้ว่าการจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส ครั้งนี้ถูกจังหวะ และไทมิ่งจริงๆ เมื่อเทียบกับตัวเลขการขายสุทธิในตลาดหุ้นอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ ที่ยังมีแรงขายอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยว่า หลังจากจัดงาน Thailand Focus 2013 ครบ 1 เดือน มีปริมาณการซื้อขายหุ้นรวมของ 112 บริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมงานอยู่ที่ 43,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วง 1 เดือนก่อนจัดงาน 22% และสูงกว่าปริมาณการซื้อขายโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 8% ในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับมูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ 720,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับ 1 เดือนก่อนการจัดงาน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายโดยรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เพิ่มขึ้น 15% ทั้งนี้ปริมาณ 90% ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมงาน หรือคิดเป็น 100 แห่ง มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น จากทั้งหมด 112 แห่ง โดยมีราคาหุ้นที่ลดลง 9 บริษัท คิดเป็น 8% และอีก 3 บริษัท ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง หรือคิดเป็น 2% ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นของบจ.ทั้ง 112 แห่ง เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 10.03% มากกว่าการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ที่เพิ่มขึ้นเพียง 6.89% ในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้มีสัดส่วน 70% ของบจ.ที่เข้าร่วมงานมีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายช่วง 1เดือนหลังจัดงานเพิ่มขึ้นจากช่วง 1 เดือนก่อนหน้านี้ โดยมี 5 บริษัทที่มีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คือ หุ้น บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC ปรับตัวเพิ่มขึ้น 46%, หุ้นบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือAEONTS ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35%, หุ้นบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31%, หุ้นบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28% และหุ้น บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28% “หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรกหลังจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส 2013 ครั้งนี้เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตดีในช่วงงวด 6เดือนแรกของปีนี้” นางสาวปวีณา กล่าว อย่างไรก็ตามยังมีหุ้น 5 อันดับแรกที่มีออเดอร์การซื้อสุทธิหุ้นผ่าน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (NVDR) เข้ามาอย่างหนาแน่นในช่วง 1 เดือนหลังงานไทยแลนด์ โฟกัส คือ หุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มีปริมาณการซื้อสุทธิ จำนวน 4,917 ล้านบาท, หุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีปริมาณการซื้อสุทธิจำนวน 3,814 ล้านบาท, หุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มีปริมาณการซื้อสุทธิ จำนวน 2,761 ล้านบาท, หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีปริมาณการซื้อสุทธิ จำนวน 2,658 ล้านบาท และหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีปริมาณการซื้อสุทธิ จำนวน 2,472 ล้านบาท ทั้งนี้ช่วงก่อนจัดงาน Thailand Focus 2013 ตลาดหุ้นไทยมีแรงกดดันจากความเสี่ยงเรื่องการชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ค่าเงินอ่อนค่า เหตุการณ์ในซีเรีย รวมถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว ทำให้ SET Index ปรับตัวลงต่อเนื่องเหมือนกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค “ บจ.ไทยมีฐานะการเงินแข็งแรง การเติบโตระยะยาวยังดีอยู่ โดยได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คลี่คลายลง และนักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้นจากการเข้าร่วมงาน Thailand Focus 2013 ดัชนี SET Index จึงเริ่มฟื้นตัว” นางสาวปวีณา กล่าว